<< Go Back

พริกชี้ฟ้า ชื่อสามัญ Chili spur pepper
ลักษณะของพริกชี้ฟ้า
ต้นพริกชี้ฟ้า
      มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์เพื่อเก็บผลขายในประเทศไทยแต่โบราณแล้ว โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุประมาณ 1-3 ปี มีความสูงได้ประมาณ 0.3-1.2 เมตร ลำต้นเปราะหักง่าย แตกกิ่งก้านหนาแน่นเป็นพุ่ม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ปลูกกลางแจ้งจะดีเพราะน้ำไม่ท่วม เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำดี หรือปลูกบนดินรังปลวกก็จะมีอายุอยู่ได้นาน พบได้ทุกภาคในประเทศไทย แต่พบได้มากทางภาคเหนือและกรุงเทพฯ

ใบพริกชี้ฟ้า
      ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหรือออกตรงข้ามกัน บางพันธุ์ก็ออกเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจเรียว รูปวงรี รูปใบหอก หรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบนิ่ม หลังใบและท้องใบเรียบ


ดอกพริกชี้ฟ้า
      ออกดอกเป็นช่อหรือออกดอกเดี่ยวชี้ขึ้น โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีขาวหรือสีขาวอมเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันปลายตัดหรือเป็นหยัก 5 หยัก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี


ผลพริกชี้ฟ้า
      ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมยาว ปลายผลแหลม ผลอ่อนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มและสีแดง ผิวผลเป็นมัน ปลายผลชี้ตั้งขึ้น ผลมีรสเผ็ดร้อนพอประมาณ ส่วนเมล็ดมีลักษณะแบนเรียบ สีเหลืองหรือสีขาวนวล และมีจำนวนมาก สามารถติดผลได้ตลอดปี


ประโยชน์ของพริกชี้ฟ้า
      1. ผลอ่อนและผลแก่ใช้เครื่องประกอบอาหาร
      2. ยอดอ่อนและใบอ่อนสามารถนำมาประกอบอาหารได้ เช่น แกงอ่อม แกงเลียง เป็นต้น
      3. การรับประทานพริกเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งและป้องกันการเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดลมอักเสบได้ เนื่องจากพริกมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินเอ
      4. พริกยังถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในขี้ผึ้งทาถูนวด เพื่อแก้อาการปวดเมื่อยบวมและลดอาการอักเสบ เพราะทำให้ผิวหนังบริเวณที่ทายา มีเลือดมาเลี้ยงมากยิ่งขึ้น จึงช่วยแก้อาการเป็นตะคริวได้ด้วย
      5. นอกจากนี้พริกยังใช้เป็นส่วนผสมในยาธาตุ ยาแก้ปวดหลัง เนื่องจากสารสกัด Capsaicin จากพริกสามารถช่วยกระตุ้น การหลั่งของเอนไซม์บางชนิดได้ ซึ่งทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เกิดการบีบตัวและคลายตัว

 

ขอบคุณเนื้อหาเพิ่มเติม
https://medthai.com/พริกชี้ฟ้า/

<< Go Back