<< Go Back

     คำว่า “เหลา” มาจากภาษาจีน แปลว่า ภัตตาคาร จึงสันนิษฐานว่าน่าจะออกเสียงเพี้ยนต่อ ๆ กันมาจากคำว่า “โหลว” กลายเป็น “เหลา” และตัดทอนให้สั้นกระชับ หรือบางแหล่งข้อมูลบอกว่า เมื่อออกเสียงเป็นสำเนียงแต้จิ๋วได้ว่า “จิ๋ว-เล้า” เลยอาจเพี้ยนมาเป็นคำว่า “เหลา” ได้เช่นกัน และเมื่อ “อาหารเหลา” ถือเป็นมื้อพิเศษบนโต๊ะอาหารของคนจีน

     ชาวจีนยังใช้ “การกิน” และ “โต๊ะอาหาร” เป็นสื่อกลางในการพูดคุย แสดงความคิดเห็น และความรู้สึกต่อกันทั้งระหว่างคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนพ้อง รวมถึงเป็นสื่อกลางในการสานสัมพันธ์ทางสังคมหรือทำธุรกิจ การสัมภาษณ์งานที่เจ้านายไม่อยากให้ลูกน้องรู้สึกเกร็ง และเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ รวมถึงใช้โต๊ะอาหารเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลลับสุดยอดด้วยเช่นกัน

     สำหรับลูกหลานชาวจีน อาจมีหลายโอกาสที่เราจะขอร่วมฉลองไปพร้อมกับมื้อพิเศษ แต่ถึงอย่างไร “เทศกาลตรุษจีน” ก็ยังคงเป็นเทศกาลสำคัญและพิเศษสุดสำหรับชาวจีนอย่างมั่นคงไม่เสื่อมคลาย โดยชาวจีนจะถือโอกาสวันส่งท้ายปีเก่าตามการนับของชาวจีน ด้วยการพาครอบครัวร่วมวงล้อมโต๊ะกินอาหารพร้อมหน้ากัน โดยในมื้อนั้น ๆ จะมีต้องมี “เมนูปลา” เป็นหลัก เพราะคำว่าปลาในภาษาจีนนั้นมีเสียงพ้องกันคำว่า “มีมากจนเหลือ” หรือความหมายแบบมีนัยยะคือ “การมีกินมีใช้ตลอดปี” เช่นเดียวกับ “เมนูไก่” ที่ควรมี เพราะคำว่าไก่เมื่อออกเสียงในภาษาจีนจะพ้องกับคำว่า “สิริมงคล” นั่นเอง นอกจากความหมายมงคล จำนวนเมนูอาหารก็เป็นหัวข้อที่คนจีนให้ความสำคัญไม่แพ้กัน โดยจำนวนอาหารบนโต๊ะจะต้องรวมแล้วเป็นเลขคู่ ตามความเชื่อว่าเป็นตัวเลขมงคล ดังนั้นอาหารจานหลักควรจะมี 6 อย่าง หรือ 12 อย่าง มากน้อยตามจำนวนคนร่วมโต๊ะ

     การเลือกที่นั่งเหมาะสมของโต๊ะอาหาร โดยชาวจีนถือกันว่าถ้าใครเป็นเจ้าภาพ จะนั่งที่นั่งหันหน้าตรงข้ามกับประตู ส่วนขวามือของเจ้าภาพคือ ที่นั่งของแขกที่มีความสำคัญสูงสุด แน่นอนว่าฝั่งซ้ายมือคือที่นั่งของแขกที่มีความสำคัญอันดับ 2 สำหรับที่นั่งตรงกันข้ามของเจ้าภาพก็คือเก้าอี้สำหรับเจ้าภาพรอง และที่นั่งขวามือของเจ้าภาพรองก็คือ แขกที่มีความสำคัญอันดับ 3 ส่วนแขกที่มีความสำคัญอันดับ 4 จะนั่งอยู่ทางซ้ายมือของเจ้าภาพรอง หรือจำง่าย ๆ ว่าคนจีนจะถือ ฝั่งขวา เป็นหลักสำคัญในการไล่เรียงตำแหน่งเริ่มต้นจากสูงลดหลั่นลงไปนั่นเอง

ขอบคุณเนื้อหาเพิ่มเติม
     https://www.wongnai.com/news/chinese-food-culture

<< Go Back