<< Go Back

    น้ำมัน เป็นส่วนประกอบในการทำอาหารไทยที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราอาจจะใช้ให้น้อยลงได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรร่างกายของเราก็ต้องการไขมัน เพราะเป็นหนึ่งในอาหาร 5 หมู่ที่เราควรได้รับในแต่ละวัน แถมยังเป็นตัวละลายวิตามินบางชนิดที่เราได้รับจากการทานผักผลไม้ด้วย แต่การเลือกใช้น้ำมันให้ถูกต้องต่อกระบวนการทำอาหารของเราก็สำคัญเช่นกัน ไม่ใช่แค่เพื่อรสชาติที่ดี แต่เพื่อให้เราได้รับสารอาหารที่ดีได้อย่างครบถ้วน

ประเภทของน้ำมัน

    - น้ำมันจากพืช มีคุณสมบัติที่ตรงข้ามกับน้ำมันสัตว์ น้ำมันพืชส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งมีองค์ประกอบทางเคมีที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าน้ำมันสัตว์ ไขมันไม่อิ่มตัวนี้จะไม่ค่อยเป็นไข แม้จะอยู่ในที่เย็นเช่น แช่ตู้เย็น แต่จะทำปฏิกิริยากับความร้อนและออกซิเจนได้ง่าย และมักทำให้เกิดกลิ่นเหม็นหืนภายหลังจากใช้ประกอบอาหารแล้ว

    - น้ำมันจากสัตว์ ในน้ำมันหมูจะมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นไขได้ง่ายเมื่ออากาศเย็น และยังมีกลิ่นเหม็นหืนได้ง่ายเมื่อทิ้งไว้ที่อุณหภูมิปกติ ไขมันจากสัตว์นอกจากมีไขมันอิ่มตัวแล้วยังมโคเลสเตอ รอลอีกด้วย การกินไขมันสัตว์มากอาจจะทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

ชนิดของน้ำมัน

1. น้ำมันมะกอก เป็นน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวมากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในร่างกาย ซึ่งน้ำมันมะกอกที่นิยมใช้ทำอาหารมี 3 ประเภท ได้แก่ Extra virgin olive oil, Pure olive oil, Light olive oil ซึ่งแต่ละประเภทก็นำมาใช้การทำอาหารในประเภทที่แตกต่างกัน อาทิเช่น Extra virgin olive oil นิยมนำไปใช้ทำน้ำสลัด ซอสต่าง ๆ ที่ไม่ต้องผ่านความร้อน, Pure olive oil นิยมนำไปใช้ผัดอาหารแบบเร็ว ๆ เช่น ผัดผัก ข้าวผัด ไม่เหมาะกับการใช้ทอดอาหารนาน, Light olive oil นิยมนำมาทอดอาหาร ไม่เหมาะกับการนำมาทานสด ๆ ผสมน้ำสลัด หรือผสมซอส 

2. น้ำมันถั่วเหลือง มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวในระดับปานกลาง ไม่เป็นไขเมื่ออยู่ในอุณหภูมิต่ำ น้ำมันถั่วเหลืองเมื่อผ่านความร้อนอุณหภูมิสูงมาก จะทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระได้ง่าย จึงเหมาะกับการปรุงอาหารที่ใช้ความร้อนปานกลาง นิยมนำมาผัด หรือนำมาทำน้ำสลัด และมาการีน

3. น้ำมันเมล็ดทานตะวัน ได้จากการนำเมล็ดดอกทานตะวันมาบีบอัดให้เหลือแต่น้ำมัน น้ำมันเมล็ดทานตะวันมีเนื้อบางเบาและไร้กลิ่น แต่ไม่เป็นที่นิยมแม้จะมีประโยชน์มาก เพราะมีราคาค่อนข้างสูง จึงเหมาะสำหรับกลุ่มคนที่รักสุขภาพโดยเฉพาะ นิยมนำมาทำอาหารเพื่อสุขภาพ ผัด และน้ำสลัด

4. น้ำมันรำข้าว เป็นน้ำมันพืชชนิดหนึ่งที่ผลิตจากรำข้าว มีสารโอริซานอลเป็นสารที่มีแต่ในรำข้าว สารโอริซานอลจะช่วยต้านอนุมูลอิสระ และป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นได้สูง จึงไม่ต้องใส่สารกันหืนในน้ำมันรำข้าว ส่วนคุณภาพทางโภชนาการของน้ำมันรำข้าวก็ไม่แตกต่างจากน้ำมันถั่วเหลือง นิยมนำมาทำอาหารเพื่อสุขภาพ ผัด และน้ำสลัด

5. น้ำมันปาล์ม เป็นน้ำมันพืชอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมอย่างมาก ในการนำมาใช้ประกอบอาหาร เช่น การทอดโดยใช้น้ำมันท่วม เนื่องจากมีกรดไขมันที่มีความอิ่มตัวมากกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ จึงทำให้น้ำมันปาล์มมีกลิ่นหืนและยังไม่เกิดควันเมื่อทอดอาหารที่อุณหภูมิสูง อีกทั้งยังมีราคาถูกจึงเป็นที่นิยมใช้ในการทำอาหาร แต่ด้วยความที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง และมีกรดไลโนอีกต่ำกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น เมื่อบริโภคเยอะ ๆ ทำให้ไม่ดีต่อสุขภาพ นิยมนำมาประกอบอาหารที่เป็นเมนูทอด เช่น ปลาทอด ไก่ทอด หมูทอด

6. น้ำมันงา เป็นน้ำมันที่บริสุทธิ์ไม่ผ่านการฟอกสีและการต้มกลั่น แต่จะนำเมล็ดงามาบีบคั้นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 45 องศาเซลเซียส จึงคงคุณค่าสารอาหารไว้ครบ เหมาะสำหรับการปรุงอาหารที่ไม่ต้องใช้ความร้อนสูง หรือใส่ในอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว และยังเหมาะสำหรับการใช้ปรุงอาหารที่ต้องผ่านความร้อน นิยมนำมาใช้กับเมนู ผัด การจี่ และหมัก ซึ่งจะช่วยให้อาหารมีกลิ่นหอม และสามารถเก็บไว้ได้นานไม่เหม็นหืน

7. น้ำมันคาโนลา เป็นน้ำมันนำเข้าที่สกัดได้จากเมล็ดของต้นคาโนลา ซึ่งต้นคาโนลานี้เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแคนาดา น้ำมันดอกคาโนลาเป็นน้ำมันอีกชนิดที่ทำมาเพื่อสุขภาพ นิยมใช้กับอาหารประเภทเค้ก ขนมปัง ช็อกโกแลต ลูกอม หรือมาการีน

8. น้ำมันหมู เป็นน้ำมันที่ได้จากธรรมชาติแท้ ๆ ที่มีกรดไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง ช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) และเพิ่มระดับคลอเลสเตอรอลดี (HDL) แถมทนต่อความร้อน จึงไม่เปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นตัวร้ายก่อมะเร็งและโรคหัวใจ นิยมนำมาใช้กับเมนูผัด และเมนูทอด

 

 ขอบคุณเนื้อหาเพิ่มเติม

  https://www.chonklang.com/th/บทความ/น้ำมันพืช+10+ชนิดที่นิยมใช้ปรุงอาหาร-37/

<< Go Back