<< Go Back

       พาร์สลี่ย์
พาร์สลี่ย์ ชื่อสามัญ Parsley (พาร์สลี่ย์ (ออกเสียงแบบอเมริกัน), พาร์สเลย์ (ออกเสียงแบบไทย))
พาร์สลี่ย์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Petroselinum crispum (Mill.) Fuss (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Apium crispum Mill., Apium petroselinum L., Carum petroselinum (L.) Benth. & Hook.f., Petroselinum hortense Hoffm., Petroselinum sativum Hoffm.) จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)

     สมุนไพรพาร์สลี่ย์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านเยาวพาณี (ภาคใต้), ขึ้นฉ่ายฝรั่ง เทียนเยาวพาณี (ไทย), ฉินช่าย โอวโจว (จีนกลาง) เป็นต้น

หมายเหตุ : ต้นพาร์สลี่ย์หรือเทียนเยาวพาณีที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นคนละชนิดกันกับเทียนเยาวพาณีที่จัดอยู่ในพิกัด เทียนทั้งเก้า

ลักษณะของพาร์สลี่ย์
       - ต้นพาร์สลี่ย์ จัดเป็นพืชขนาดเล็กคล้ายต้นผักชี มีอายุประมาณ 2 ปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง แตกกิ่ง สูงได้ประมาณ 50-120 เซนติเมตร

ต้นพาร์สลี่ย์ดอกเหลือง

       - ใบพาร์สลี่ย์ ก้านมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม แทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน ก้านใบยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ใบย่อยแตกเป็นแฉกแบบขนนก 2-3 ชั้น ขอบใบหยักคล้ายผักชีใบเล็ก (มีทั้งใบหยิกและใบแบน) ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร มีก้านใบย่อยสั้น

พาร์สลี่ย์ใบเรียบ

 

พาร์สลี่ย์ใบหยิก

 

       - ดอกพาร์สลี่ย์ ออกดอกเป็นช่อแบบก้านซี่ร่ม มีดอกย่อยประมาณ 10-12 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาว สีเหลือง หรือสีเหลืองอมเขียว ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่บนฐานดอก เรียงสลับกับกลีบดอก

พาร์สลี่ย์ดอกเหลือง

 

พาร์สลี่ย์ดอกขาว

 

       - ผลพาร์สลี่ย์ เมล็ดเป็นเมล็ดแห้งรูปไข่ หรือรูปสามเหลี่ยม ขนาดเล็ก สีน้ำตาลแดงสลับขาว มีกลิ่นหอม

ผลพาร์สลี่ย์

 

เมล็ดพาร์สลี่ย์

หมายเหตุ : ในวงศ์เดียวกันยังพบพาร์สลี่ย์หรือเทียนเยาวพาณีอีก 2 ชนิด ได้แก่ Petroselinum crispum var. neapolitanum (พบได้ในประเทศอิตาลี) และ Petroselinum crispum var. tuberosum (พบได้ในประเทศเยอรมนี)

สรรพคุณของพาร์สลี่ย์
       1. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ด้วยการใช้เมล็ดแห้ง 7.5 กรัม นำมาแช่กับน้ำร้อนนาน 5-10 นาที ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (เมล็ด)
       2. ทั้งต้นและเมล็ดมีรสเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอม ใช้เป็นยาขับเสมหะและละลายเสมหะ (เมล็ด, ทั้งต้น)
       3. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เมล็ด, ทั้งต้น)
       4. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการสะอึก (ใบ)
       5. เมล็ดและทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาช่วยขับลมในท้อง แก้อาการจุกเสียด ช่วยในการย่อยอาหาร (เมล็ด, ทั้งต้น)
       6. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (เมล็ด, ทั้งต้น)
       7. ช่วยทำให้มดลูกของสตรีหลังคลอดบุตรเข้าอู่เร็วขึ้น (เมล็ด, ทั้งต้น)
       8. ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดตามข้อเนื่องจากลมชื้นเกาะติด (เมล็ด, ทั้งต้น)
       9. ใบใช้ตำพอกแก้อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำดำเขียว (ใบ)

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม ให้ใช้ต้นแห้งหรือผลประมาณ 10-20 กรัม ส่วนต้นสดให้ใช้ 30-50 กรัม และเมล็ดให้ใช้ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาตามต้องการ

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพาร์สลี่ย์
       - ในเมล็ดพบน้ำมันระเหย ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก คือ Apiole หรือ Apiin และ Myristicin และยังพบวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินซี อีกทั้งยังมีแร่ธาตุต่าง ๆ อีกด้วย เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม เป็นต้น
       - ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิตสูง ต้านการเกิดนิ่ว ขับปัสสาวะ ขับน้ำลม ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ เพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก ลดการปวดโรคข้ออักเสบ
       - จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่า เมื่อฉีดสารสกัดอีเธอร์จากผลแห้งเข้าทางเส้นเลือดดำของสุนัข ขนาดต่ำที่สุดที่ทำ ให้ สัตว์ทดลองตาย คือ 0.25 กรัมต่อกิโลกรัม สารสกัดด้วยอีเธอร์จากผลแห้งเป็นพิษ โดยพบว่ามีความเป็นพิษต่อตับและไต
       - เมื่อปี ค.ศ.1923 ที่ประเทศอังกฤษ ได้ทำการทดลองและพบว่าเมล็ดออกฤทธิ์เหมือนสารอินซูลิน
       - เมื่อปี ค.ศ.1999 ที่ประเทศตุรกี ในมหาวิทยาลัย Marmara ได้ทำการทดลองใช้สมุนไพรพาร์สลี่ย์หรือเทียนเยาวพาณี โดยทำการทดลองในหนูที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวานด้วยสาร Alloxan โดยให้สารสกัดจากผลแห้ง ฉีดเข้าที่ผิวหนังของ หนูทดลอง พบว่าได้ผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ไม่ได้ระบุว่าผลการลดน้ำตาลในเลือดได้ผลมากน้อยเพียงใด

ประโยชน์ของพาร์สลี่ย์
       1. ใบพาร์สลี่ย์หยิกนิยมนำมาใช้ประดับตกแต่งในจานอาหารให้ดูน่ารับประทาน หรือนำมาสับใส่แต่งอาหารในขั้นสุดท้าย ของการปรุง นำมาผสมแต่งกลิ่นและรสในน้ำสลัดและซอส ใช้ผสมในเครื่องหมักเนื้อ ใช้กับอาหารประเภทยำ ชุบแป้งหรือ ชุบไข่ทอด หรือนำมารับประทานสด ส่วนใบพาร์สลี่ย์ใบแบนจะมีกลิ่นหอมฉุนมากกว่าใบหยิก จึงนิยมใช้เป็นผักปรุงรส และหุงต้มอาหารและนำมาชุบแป้งทอด
       2. ผลแก่แห้งใช้เป็นเครื่องเทศ ใช้โรยหน้าอาหารเพื่อดับกลิ่นคาว เช่น ทำสปาเกตตี พาสต้า ราวิโอลี่ กุ้งย่างเนย กุ้งย่างกับพริก เม็กซิกัน หอยแมลงภู่อบชีส และอื่น ๆ อีกหลากหลายรูปแบบ
       3. พาร์สลี่ย์เป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ สูงมาก โดยพาร์สลี่ย์ 1 ถ้วย จะมีเบต้าแคโรทีนมากกว่าแคร์รอต หัวใหญ่ 1 หัว มีวิตามินซีมากกว่าส้มลูกหนึ่งเกือบ 2 เท่า มีวิตามินอีเท่ากับน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน 1 ช้อนโต๊ะ มีแคลเซียม มากกว่านม 1 แก้ว มีธาตุเหล็กมากกว่าตับที่มีน้ำหนักเท่ากัน มีโปรตีนมากกว่าเต้าหู้ขาว 1 ชิ้น มีเส้นใยมากกว่าข้าวโพด 1 ฝักถึง 15 เท่า และยังเป็นผักที่มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินบี 6 สูง และในขณะเดียวกันการรับประทานผักพาร์สลี่ย์สด ๆ เพียง 10 ก้าน จะให้พลังงานเพียง 4 แคลอรีเท่านั้น
       4. พาร์สลี่ย์มีสารช่วยต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากประกอบไปด้วยสารฟลาโวนอยด์หลายชนิด รวมทั้งอาพิเจนิน ลูทีโอลิน เคมฟีรอล เควอซิติน ไครโซเออรอล ไอโซแรห์มเนติน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระ ของส่วนที่เป็นพลาสมาในเลือด ช่วยทำให้มีการทำงานของเอนไซม์ที่ต้านอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพาร์สลี่ย์มีผลในการ ช่วยปกป้องต่อการทำลายกระบวนการออกซิเดชั่น
       5. พาร์สลี่ย์ต้านมะเร็งเต้านม วารสาร Cancer Prevention Research ได้ระบุว่า ใบพาร์สลี่ย์ประกอบไปด้วย สารพฤกษเคมีสำคัญที่มีชื่อว่า อะพิจีนีน (Apigenin) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการป้องกันการสร้างเส้นเลือดที่สามารถลำเลียง อาหารเข้าสู่เซลล์มะเร็ง จากการทดลองโดยการฉีดสารอะพิจีนีนให้กับหนูทดลองที่เป็นมะเร็งเต้านม ผู้วิจัยได้สังเกตเห็นว่า อัตราการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเต้านมลดลง และผู้วิจัยยังมีความเห็นว่า จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม ปริมาณที่เหมาะสมในการใช้สารชนิดนี้ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมในคนต่อไป พร้อมทั้งยังระบุว่า สารอะพิจีนีนในเลือด แม้จะมีเพียงเล็กน้อย แต่มันก็สามารถช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ และพาร์สลี่ย์มีสารต้านมะเร็งที่ช่วยทำให้ สารก่อมะเร็ง ในใบยาสูบไม่ออกฤทธิ์
       6. ลมหายใจสดชื่นด้วยพาร์สลี่ย์ สารคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) เป็นสีเขียวที่พบได้มากในใบพาร์สลี่ย์ ซึ่งมีคุณสมบัติ ในการช่วย ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปากที่เป็นสาเหตุของกลิ่นปาก การเคี้ยวใบพาร์สลี่ย์หลังอาหารจึงช่วยลดปัญหา กลิ่นปากได้
       7. นอกจากนี้ พาร์สลี่ย์ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของไต มีสารขับปัสสาวะ มีธาตุเหล็กที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง แก้โรคหอบหืด ลดอาการไอ ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารและแก๊สในทางเดินอาหารเป็นไปด้วยดี ลดอาการปวดเสียด ในสมัยก่อนจะใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือนของสตรี ใบสดนำมาบดใช้เป็นยาพอกแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก และแมลงกัดต่อยได้ ช่วยแก้อาการนมคัดของสตรีมีครรภ์ก็ใช้รักษาได้ดี และใบยังเหมาะกับสตรีที่ให้นมบุตรอีกด้วย เพราะจะ ได้รับธาตุเหล็กชดเชยในส่วนที่แม่สูญเสียไป
       8. ผิวสวยไร้สิวด้วยใบพาร์สลี่ย์ เพียงแค่คุณนำใบพาร์สลี่ย์มาสับให้ละเอียด จากนั้นเรียงลงไปในถาดน้ำแข็ง ใส่น้ำให้เต็ม รอให้เย็นเป็นก้อน ห่อด้วยผ้าบาง ๆ แล้วนำมาประคบบริเวณที่เป็นสิวบวม อักเสบ แดง ประมาณ 20 วินาที ทุกเช้าเย็น ก็จะช่วยลดอาการอักเสบได้อย่างรวดเร็ว ส่วนประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อเอาใบมาแช่น้ำไว้ข้ามคืนก็จะได้น้ำยาโลชั่น ที่ใช้ ทำความสะอาดผิวได้เป็นอย่างดี

คุณค่าทางโภชนาการของใบพาร์สลี่ย์สด ต่อ 100 กรัม
       - พลังงาน 36 กิโลแคลอรี
       - คาร์โบไฮเดรต 6.33 กรัม
       - น้ำตาล 0.85 กรัม
       - ใยอาหาร 3.3 กรัม
       - ไขมัน 0.79 กรัม
       - โปรตีน 2.97 กรัม
       - วิตามินเอ 421 ไมโครกรัม (53%)
       - เบต้าแคโรทีน 5,054 ไมโครกรัม (47%)
       - ลูทีนและซีแซนทีน 5,561 ไมโครกรัม
       - วิตามินบี 1 0.086 มิลลิกรัม (7%)
       - วิตามินบี 2 0.09 มิลลิกรัม (8%)
       - วิตามินบี 3 1.313 มิลลิกรัม (9%)
       - วิตามินบี 5 0.4 มิลลิกรัม (8%)
       - วิตามินบี 6 0.09 มิลลิกรัม (7%)
       - วิตามินบี 9 152 ไมโครกรัม (38%)
       - วิตามินซี 133 มิลลิกรัม (160%)
       - วิตามินอี 0.75 มิลลิกรัม (5%)
       - วิตามินเค 1,640 ไมโครกรัม (1,562%)
       - แคลเซียม 138 มิลลิกรัม (14%)
       - ธาตุเหล็ก 6.2 มิลลิกรัม (48%)
       - แมกนีเซียม 50 มิลลิกรัม (14%)
       - แมงกานีส 0.16 มิลลิกรัม (8%)
       - ฟอสฟอรัส 58 มิลลิกรัม (8%)
       - โพแทสเซียม 554 มิลลิกรัม (12%)
       - โซเดียม 56 มิลลิกรัม (4%)
       - สังกะสี 1.07 มิลลิกรัม (11%)
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

      การเลือกซื้อและยืดอายุความสด : ให้เลือกพาร์สลี่ย์ที่มีก้านและใบเป็นสีเขียวเข้ม ก่อนเก็บเข้าในตู้เย็น ควรพรมน้ำเล็กน้อย แล้วห่อด้วยกระดาษอเนกประสงค์สำหรับงานครัว จากนั้นนำมาใส่ในถุงพลาสติกและเก็บในช่องผักวิธีนี้จะช่วยคงความสดของ พาร์สลี่ย์ได้นานถึง 2 สัปดาห์ และก่อนนำมาปรุงอาหาร ควรนำมาแช่และล้างในน้ำเย็นเพื่อคงความสดและคุณค่าทางอาหาร

 

ขอบคุณเนื้อหาเพิ่มเติม
https://medthai.com/พาร์สลี่ย์/

<< Go Back