<< Go Back

สาเก (Nihonshu) คืออะไร
           คำว่า "สาเก" ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงเหล้าทั่วไปทุกชนิด ส่วนสาเกญี่ปุ่นที่ไทยเข้าใจนั้น ญี่ปุ่นเรียกกันว่า นิฮงชู (Nihonshu) ซึ่งแปลว่าเหล้าญี่ปุ่น สาเกญี่ปุ่นทำจากข้าวโคจิ (ยีสต์) และน้ำ ข้าวที่นำมาใช้หมักทำสาเกมีหลายชนิด น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำจากธรรมชาติที่มีคุณภาพดี สาเกมีแอลกอฮอล์ประมาณ 10-20% ในการทำเหล้าสาเกให้ออกมามีคุณภาพที่ดี ข้าวจะต้องถูกนำมาสีจนเหลือ 70% หลังนึ่งแล้วจะเติมราโคจิลงไปเพื่อหมักข้าว จากนั้นก็ใส่น้ำและยีสต์ลงไปแล้วหมักต่อเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ถึง 1 เดือน เมื่อกระบวนการหมักเสร็จสิ้นแล้ว จะนำส่วนผสมมากรองเพื่อสกัดออกมาเป็นเหล้าสาเก จากนั้นจึงนำไปบ่มต่อเป็นระยะเวลาราว 1 ปี สาเกญี่ปุ่นสามารถนำไปแช่เย็นดื่มแบบเย็นชื่นใจในวันอากาศร้อน หรืออาจนำไปอุ่นแล้วดื่มร้อนๆ ในฤดูหนาว หรือจะดื่มในอุณหภูมิห้องก็ได้เช่นกัน

ประเภทของสาเก แบ่งตามส่วนผสม
      1. Junmai ไม่กำหนดปริมาณเนื้อข้าวที่ต้องสี ทำจากข้าว น้ำ และเชื้อโคจิเท่านั้น ไม่ผสมแอลกอฮอล์หรือน้ำตาล
      2. Ginjo จะขัดข้าวให้เหลือ 60% และ Daiginjo ขัดข้าวจนเหลือ 50% ผสมแอลกอฮอล์ (หากเป็น Junmai Ginjo / Daiginjo จะไม่ใส่แอลกอฮอล์) เอกลักษณ์อยู่ที่กลิ่นหอมแบบผลไม้
      3. Honzojo ข้าวที่นำมาใช้จะถูกขัดให้เหลือ 70% และใส่แอลกอฮอล์

ประเภทของสาเก แบ่งตามวิธีการผลิต
      1. Nama Sake สาเกสด คือสาเกที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรซ์ รสชาติจึงสดและเข้มข้น มักดื่มแบบเย็น มีอายุการเก็บสั้นเมื่อเทียบกับแบบอื่น
      2. Nigori คือสาเกที่ผ่านการกรองแบบหยาบ และเหลือเนื้อข้าวอยู่ จึงมีสีขาวขุ่น มีความข้น รสออกหวาน
      3. Genshu คือสาเกที่ไม่ได้เติมน้ำลงไปเพื่อปรับปริมาณแอลกอฮอล์ จึงมีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่าสาเกประเภทอื่น


     สุงิดามะ คือ ลูกกลมๆ ขนาดใหญ่ที่ทำจากสนชนิดหนึ่ง โรงสาเกจะแขวนสุงิดามะไว้ด้านหน้า เพื่อบอกว่ากระบวนการผลิตสาเกไปถึงไหนแล้ว หากสุงิดามะเป็นสีเขียวแปลว่าเพิ่งจะเริ่มกระบวนการกลั่นเหล้า เมื่อเวลาผ่านไปจนสุงิดามะแห้งและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แปลว่าเหล้าสาเกกลั่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นสัญญาณให้ผู้คนเข้ามาเลือกซื้อกัน

ขอบคุณเนื้อหาเพิ่มเติม
      https://chillchilljapan.com/dictionary/nihonshu-sake/

<< Go Back