<< Go Back

   อาหารหมู่ที่ 2 ประกอบไปด้วยข้าว น้ำตาล แป้ง มัน และเผือก เป็นต้น ซึ่งอาหารประเภทนี้จะให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตแก่ร่างกาย และนั่นก็คือการให้พลังงานแก่ร่างกายนั่นเอง มันจึงทำให้ร่างกายของคนเราสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอีกด้วย ในส่วนของพลังงานที่ได้รับจากการทานอาหารประเภทนี้โดยส่วนใหญ่จะหมดไปเป็นวันต่อวัน จากการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำงาน ออกกำลังกาย และเดิน เป็นต้น แต่หากคุณรับประทานอาหารประเภทนี้มากเกินความต้องการของร่างกาย ก็จะทำให้พลังงานถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมัน จนทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา

ประเภทของสารอาหารหมู่ที่ 2 คาร์โบไฮเดรต

     ประเภทของสารอาหารหมู่ที่ 2 คาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายได้รับจากการรับประทานอาหารประเภทนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ
     1. โนโนแซ็กคาไรด์ คือ คาร์โบไฮเดรตที่มีขนาดของโมเลกุลเล็กที่สุด จะดูดซึมจากลำไส้ได้เลยเมื่อเข้าสู่ร่างกาย โดยที่ไม่ต้องผ่านการย่อยแต่อย่างใด
     2. ไดแซ็กคาไรด์ คือ คาร์โบไฮเดรตที่มีส่วนประกอบของโมโนแซ็กคาไรด์จำนวน 2 ตัวมารวมกัน เมื่อร่างกายได้รับสารไดแซ็กคาไรด์ จะทำให้น้ำย่อยที่อยู่ในลำไส้เล็กย่อยออกมาเป็นโมโนแซ็กคาไรด์ก่อน ร่างกายจึงนำไปใช้ประโยชน์ได้
     3. พอลีแซ็กคาไรด์ คือ คาร์โบไฮเดรตที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ที่สุด อีกทั้งยังมีสูตรโครงสร้างที่ซับซ้อน และประกอบไปด้วยโมโนแซ็กคาไรด์จำนวนมากมารวมกัน

ประโยชน์ของสารอาหารหมู่ที่ 2

     1. ช่วยให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวเพื่อทำงานหรือประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ได้ (โดยพลังงานที่ได้จากอาหารหมู่นี้ส่วนใหญ่แล้วจะถูกใช้ให้หมดไปในแต่ละวัน เช่น การเดิน การวิ่ง ทำงาน การออกกำลังกายต่าง ๆ) (คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม จะให้พลังงาน 4 แคลอรี่ และคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของแคลอรี่ทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน หรืออาจสูงถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว)
    2. คาร์โบไฮเดรตมีความจำเป็นต่อการเผาผลาญไขมันในร่างกายให้เป็นปกติ เพราะถ้าร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ จะเผาผลาญไขมันเป็นกำลังงานมากขึ้น ทำให้เกิดสารประเภทคีโทนมาคั่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
    3. ช่วยสงวนคุณค่าของโปรตีนไว้ไม่ให้เผาผลาญเป็นพลังงาน ถ้าได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตอย่างเพียงพอแล้ว เพื่อให้ร่างกายนำโปรตีนไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์มากที่สุด
    4. การทำงานของสมองจะต้องพึ่งกลูโคส (glucose) ซึ่งเป็นตัวให้พลังงานที่สำคัญ
   5. กรดกลูคูโรนิก (glucuronic acid) (อนุพันธ์ของกลูโคส) มีหน้าที่เปลี่ยนสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายเมื่อผ่านไปที่ตับ ทำให้มีพิษลดลงและอยู่ในสภาพที่ร่างกายจะสามารถขับถ่ายออกมาได้
    6. อาหารคาร์โบไฮเดรตจำพวกธัญพืช ก็เป็นแหล่งที่ให้โปรตีน เกลือแร่ และวิตามินด้วย

ข้อควรรู้เกี่ยวกับคาร์โบไฮเดรต

     ถ้ารับประทานอาหารหมู่นี้มากจนเกินความต้องการของร่างกาย คาร์โบไฮเดรตก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันและทำให้เกิดโรคอ้วนได้ แม้ว่าโปรตีนและไขมันจะให้พลังงานได้เช่นเดียวกับคาร์โบไฮเดรต แต่อย่างน้อยที่สุดแล้วผู้ใหญ่ก็ควรได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่ต่ำกว่า 50-100 กรัม ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลร้ายจากการเผาผลาญไขมันและโปรตีน และถ้าจะให้ดีร้อยละ 50 ของพลังงานที่ได้รับในแต่ละวันควรมาจากคาร์โบไฮเดรต

 

ขอบคุณเนื้อหาเพิ่มเติม

  https://medthai.com//อาหารหลัก-5-หมู่/
  https://sites.google.com/site/krummmay/xahar-hlak-5-hmu/xahar-hmu-thi-2-kharbohidert

<< Go Back