<< Go Back

ความไม่ต่อเนื่องของชั้นหิน (อังกฤษ: Unconformity) เปลือกโลกไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เนื่องจากมีการตกตะกอนและการกัดกร่อนเกิดขึ้นตลอดเวลา ในทะเลลึกมีการตกสะสมของตะกอนเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานาน ส่วนบริเวณบกการสะสมตัวของตะกอนอาจถูกแทรกด้วยการกัดกร่อน ทำให้เกิดการขาดหายไปของสิ่งที่บันทึกการลำดับชั้นหิน ความไม่ต่อเนื่องของชั้นหิน (Unconformity) แสดงถึงสภาวะแวดล้อมที่ส่งผลให้การสะสมตัวของตะกอนในช่วงระยะเวลาหนึ่งหยุดลง เรียกช่วงระยะเวลาที่ชั้นหินขาดหายไปว่า เวลาความไม่ต่อเนื่อง (hiatus)
การขาดช่วงการบันทึกของชั้นหินมีหลายสาเหตุได้แก่ การยกตัวของแผ่นดิน (uplift) การขึ้นลงของระดับน้ำทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อพฤติกรรมของแม่น้ำหรือตัวกลางการสะสมประเภทอื่น การเกิดแผ่นดินถล่ม (landslide) อาจทำให้เกิดการเลื่อนตัวของชั้นตะกอนขนาดใหญ่ได้ การเปลี่ยนแปลงลักษณะการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก การกัดกร่อน และการตกตะกอนสะสมตัวมีด้วยกันหลายรูปแบบ ด้วยเหตุนี้ความไม่ต่อเนื่องของชั้นหินจึงเกิดได้จากหลายสาเหตุ

-ความไม่ต่อเนื่องแบบเชิงมุม (Angular Unconformity) แสดงด้วยความไม่ต่อเนื่องระหว่างชั้นหินที่แก่กว่า ซึ่งมักวางตัวแบบเอียงเททำมุมกับชั้นหินที่อ่อนกว่า ซึ่งแนวความไม่ต่อเนื่องนี้มักเป็นแนวการกัดกร่อน
-ความไม่ต่อเนื่องแบบไม่ลงรอยกัน (Disconformity) แสดงด้วยแนวความไม่ต่อเนื่องหรือแนวการก้ดกร่อน ซึ่งแยกชั้นหินที่ขนานออกจากกัน และแนวการกัดกร่อนจะมีลักษณะสูงหรือต่ำหรือเว้าแหว่งชัดเจนมาก
-ความไม่ต่อเนื่องแบบขนาน (Paraconformity) แนวความไม่ต่อเนื่องใช้แนวรอยต่อระหว่างชั้นหิน เป็นตัวแบ่งแยกชั้นหินที่แก่กว่าออกจากชั้นหินที่อ่อนกว่า
-ความไม่ต่อเนื่องแบบต่างชนิด (nonconformity) เป็นแนวความไม่ต่อเนื่องหรือแนวการกัดกร่อนแยกชั้นหินตะกอนที่อ่อนกว่าจากหินอัคนี หรือหินแปรที่แก่กว่าการศึกษา\

ความไม่ต่อเนื่องของชั้นหินทำให้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างการผันแปรของเปลือกโลก การกัดกร่อนและการตกตะกอน การกัดกร่อนจะเกิดขึ้นได้มาก โดยเฉพาะบริเวณที่มีการยกตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ตะกอนที่ถูกกัดกร่อนจะถูกพาไปสะสมตัวอีกที่หนึ่ง จึงเกิดการหมุนเวียนทดแทนกันได้  โดยในแต่ละชุดหินอาจประกอบด้วยการขาดช่วงหลายๆช่วงก็ได้


ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Pic4-1.2.jpg


 

      https://wikivisually.com/lang-th/wiki/ความไม่ต่อเนื่องของชั้นหิน

<< Go Back