ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทยมีหลากหลายเกือบทุกประเภท ได้แก่ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ปะการัง หอย ไทรโลไบต์ สัตว์มีกระดูกสันหลัง เช่น เต่า ไดโนเสาร์ ปลา จระเข้ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนซากพืชพบหลายชนิด มีทั้งส่วนของลำต้น ใบ และละอองเรณู นอกจากนี้ยังมีร่องรอยของสัตว์ดึกดำบรรพ์ เช่น รอยเท้า และรอยทางเดินของไดโนเสาร์ รูและรอยชอนไชของหนอน ซากดึกดำบรรพ์เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย คือ ซากไทรโลไบต์ มีอายุราว 500 ล้านปี พบที่เกาะตะรุเตา ส่วนซากดึกดำบรรพ์ ที่มีอายุใหม่ ได้แก่ ซากหอยนางรมยักษ์ ที่พบจากชุดดินกรุงเทพฯ มีอายุเพียง 5,500 ปี
แหล่งซากดึกดำบรรพ์ เกาะตะรุเตา อ.ละงู จ.สตูล
ซากดึกดำบรรพ์ที่นำมาศึกษาแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. ซากดึกดำบรรพ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเล เช่น ฟองน้ำ ปะการัง หอยกาบคู่ หอยกาบเดี่ยว เม่นทะเล รวมทั้งแมลงชนิดต่างๆ ซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ในทะเลด้วย
2. ซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
3. ซากดึกดำบรรพ์พืช มีทั้งพืชน้ำและพืชบกชนิดต่างๆ
4. ร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์ เช่น รอยเท้าหรือแนวทางเดิน รูหรือรอยชอนไช มูลของสัตว์ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในชั้นหิน
|
|
ซากดึกดำบรรพ์พืช (ซากใบเฟิร์น) |
ซากดึกดำบรรพ์สัตว์ ไม่มีกระดูกสันหลัง
(ซากปะการัง) |
แหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ที่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล เป็นซากดึกดำบรรพ์ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีอายุราว 500 – 470 ล้านปี มาแล้ว ส่วนแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุใหม่มาก คือ แหล่งซากหอยนางรมยักษ์ วัดเจดีย์หอย จังหวัดปทุมธานี มีอายุเพียง 5,500 ปี เท่านั้น
แหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย มี 3 แห่ง คือ
1. แหล่งซากไดโนเสาร์ภูเวียง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ได้พบซากไดโนเสาร์ทั้งประเภทกินพืช และกินเนื้อ รวม 3 ชนิด ที่ถือว่าเป็นต้นแบบของโลกและตั้งชื่อเพื่อใช้ในการอ้างอิงได้ ชนิดแรกเป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่มีชื่อว่า ภูเวียงกอซอรัส สิรินธรนี (Phuwiangosaurus sirindhornae) ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีก 2 ชนิด เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ ชื่อว่า ไซแอมอซอรัส สุธีธรไน (Siamosaurus suteethorni) และ ไซแอมอไทรันนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis) จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ชื่อ มีชื่อภูมิศาสตร์ของประเทศไทย เป็นคำประกอบอยู่ด้วย คือ ภูเวียง สยาม และอีสาน ทั้งนี้ เป็นการยืนยันว่าซากไดโนเสาร์ทั้ง 3 ชนิด ได้พบในประเทศไทย เป็นแห่งแรกของโลก
|
|
แหล่งซากไดโนเสาร์ภูเวียง
ที่มาภาพ : https://board.postjung.com/726921.html
|
2. สุสานหอยแหลมโพธิ์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดกระบี่ มีลักษณะเป็นแผ่นหินปูน หนาระหว่าง 0.05 – 1.0 เมตร มีเปลือกหอยขมน้ำจืดจำนวนมากทับถมกัน และเชื่อมประสานติดกันเป็นแผ่น วางซ้อนกันคล้ายลานซีเมนต์ อยู่ที่บริเวณริมหาด เป็นแนวยาวประมาณ 2 กิโลเมตร จากการศึกษาตรวจสอบพบว่า ชั้นสุสานหอยนี้มีอายุราว 37-33.5 ล้านปี มาแล้ว
สุสานหอยแหลมโพธิ์
ที่มาภาพ : https://travel.thaiza.com/guide/237581/
3. แหล่งไม้กลายเป็นหิน อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก อยู่ในเขตป่าสงวนแม่สลิด-โป่งแดง มีลำต้นของไม้ที่กลายเป็นหินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 เมตร ยาว 20 เมตรเศษ มีอายุประมาณ 800,000 ปี จัดว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์พืชประเภทไม้กลายเป็นหิน (Petrified wood) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด ที่พบในประเทศไทย
|
|
แหล่งไม้กลายเป็นหิน
ที่มาภาพ : https://travel.thaiza.com/guide/258494/
|
https://aphichati1998.wordpress.com/ซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไ/
|