<< Go Back

การขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อปรากฏหลักฐานว่าเริ่มมาตั้งแต่ 900 ปี ก่อนคริสตกาล โดยชาวจีนใช้กระบอกไม้ไผ่ในการขนส่งก๊าซธรรมชาติ

ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่ามีการใช้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ทำจากไม้ในพ.ศ. 2364 หรือประมาณ 189 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีการวางเครือข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั่วโลกรวมกันเป็นระยะทางกว่า 1 ล้านกิโลเมตรโดยครึ่งหนึ่งอยู่ในอเมริกาเหนือและอีก 1ใน 4 อยู่ในยุโรปตะวันตก

ในประเทศไทยเริ่มมีการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและเริ่มใช้งานในพ.ศ. 2524 โดยบริษัท ปตท. จำกัด( มหาชน ) หรือการปิโตเลียมแห่งประเทศไทยในสมัยนั้น รับผิดชอบการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยมายังชายฝั่งที่จังหวัดระยอง และวางท่อก๊าซธรรมชาติเลียบถนนสายหลักไปยังผู้ใช้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าพระนครใต้ จังหวัดสมุทรปราการ และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆตามแนวท่อ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางท่อจะแตกต่างไปตามปริมาณการจำหน่ายให้แก่ลูกค้า

ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นเครือข่ายทั่วประเทศทั้งบนบกและในทะเลระยะทางรวมกันกว่า 3,500 กิโลเมตร และสามารถจัดส่งก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม และใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีรวมกันประมาณวันละกว่า 3,700 ล้านลูกบาศก์ฟุต

การวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก
         ขั้นตอนการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก

การจัดเตรียมพื้นที่วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
ปกติจะเตรียมพื้นที่ทั่วไปตามแนวท่อท่อส่งก๊าซฯ ให้มีความกว้างประมาณ 12-23 เมตร ขึ้นอยู่ดับสภาพพื้นที่และขนาดของท่อเพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ พร้อมทั้งปรับระดับผิวดินให้เรียบสม่ำเสมอ สำหรับชั้นดินที่ขุดออกจะถูกกองแยกออกจากดินชั้นล่าง และเมื่องานฝังกลบเสร็จสิ้น ก็จะนำดินส่วนนี้กลับเพื่อให้พืชเจริญเติบโตได้ง่าย

การขนย้ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
ใช้รถบรรทุกในการขนย้ายท่อส่งก๊าซฯ จากลานเก็บท่อไปยังพื้นที่วางท่อโดยมีผู้ควบคุมดูแลการขนย้ายอย่างใกล้ชิดและดำเนินการอย่างระมัดระวัง

การขุดร่อง
ใช้รถขุดหรือรถที่ออกแบบในการขุดโดยเฉพาะ โดยความลึกของร่องขึ้นอยู่กับขนาดของท่อและมาตรฐานความลึกตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการก่อสร้าง โดยมีมาตรฐานขั้นต่ำ 1 เมตร และหากวางในเขตการทางของกรมทางหลวงจะลึก 1.5 เมตร ดินชั้นบนจะถูกแยกไว้ต่างหาก เพื่อนำมากลบผิวดินภายหลัง

การดัดท่อ
แนวการวางท่อจะต้องมีการโค้งตามแนวหรือโค้งตามระดับของร่องที่ขุดดังนั้น จึงต้องดัดท่อเพื่อให้ท่อวางตัวในแนวที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำบริเวณด้านข้างของร่องที่ขุด หรือบริเวณลานเก็บท่อ โดยใช้เครื่องมือพิเศษ ซึ่งจะยึดท่อไว้โดยรบกวนสารเคลือบท่อให้น้อยที่สุด

 

             http://www.vcharkarn.com/varticle/43983

    << Go Back