<< Go Back

สังกะสี หรือ Zinc เป็นธาตุอาหารชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์หรือพืช ด้วยบทบาทที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจในการทำงานร่วมกับเอนไซม์ต่างๆ มากกว่า 300 ชนิดในร่างกายของเรา การรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุชนิดนี้อย่างเพียงพอ จะช่วยรักษาร่างกายให้ทำงานได้อย่างสมดุล

          การรับประทาน สังกะสี ที่มากเกินไปก็อาจก่อเกิดเป็นโทษ ส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยได้ เพราะฉะนั้น การเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ร่างกายได้รับ สังกะสี ในการนำไปใช้ได้เพียงพอและปลอดภัยมากที่สุด

หน้าที่ของธาตุสังกะสีกับร่างกาย

          1.หน้าที่สำคัญของธาตุ สังกะสี สำหรับร่างกาย คือการเข้าไปควบคุมกระบวนการทำงานต่างๆ ในระดับเซลล์ ทำให้อวัยวะดำเนินการทำงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และด้วยส่วนประกอบของ สังกะสี ที่มีอยู่ภายในเอนไซม์อย่างน้อยราว 60-70 ชนิด โดยมีหน้าที่หลักสำคัญคือ เป็นเสมือนรถบรรทุกคอยขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์จากเซลล์และเนื้อเยื่อไปยังปอด มีการทำหน้าที่เป็นเอนไซม์ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนกรดไฟรูวิกเป็นกรดแลคติก ซึ่งจะอยู่ในวัฎจักรไกลโคลิซิส นอกจากนี้ ยังเป็นเอนไซม์ช่วยย่อยโปรตีนที่ลำไส้เล็ก เป็นโคแฟกตอร์ช่วยสังเคราะห์ดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ
          2. มีส่วนช่วยบำรุงดูแลร่างกายส่วนที่สึกหรอ โดยการเข้าไปซ่อมแซม ทำหน้าที่ช่วยควบคุมการทำงานของเอนไซม์
          3. ปริมาณที่เพียงพอที่เราได้รับแต่ละวัน จะช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง เมื่อเกิดบาดแผลขึ้นมาจะช่วยเยียวยาให้แผลหายไวขึ้น
          4. สำหรับเด็กจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการรับรู้รสชาติและการได้กลิ่นให้มีประสิทธิภาพ

          เมื่อธาตุชนิดนี้ถูกนำเข้าสู่ร่างกาย ผ่านกระบวนการย่อยอาหาร จะถูกดูดซึมอยู่ที่ลำไส้เล็กตอนต้น (Duodenum) และลำไส้เล็กตอนกลาง (Jejunum) แต่การดูดซึมของสารชนิดนี้มักจะถูกขัดขวางโดย ทองแดง แคลเซียม ไฟเทต แคดเมียม และใยอาหาร สังกะสี บางส่วนที่ไม่ถูกดูดซึม ก็จะถูกขับถ่ายออกพร้อมกับน้ำย่อยจากตับอ่อน ส่งผ่านลำไส้ใหญ่รวมตัวกับอุจจาระและปัสสาวะ ซึ่งจะมีปริมาณที่ถูกขับออกมาตามธรรมชาติราว 500 ไมโครกรัม

อาหารที่มีธาตุสังกะสีสูง

          1. อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ทุกประเภท ตับ นม เนย ปู กุ้ง ไข่
          2. หอยนางรมให้ สังกะสีจำนวนมาก ประมาณ 745 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม
          3. พวกพืชผัก เช่น ข้าวกล้อง เมล็ดทานตะวัน เมล็ดพืช วุ้นเส้นไม่ฟอกขาว งา มันฝรั่ง ผักใบเขียวต่างๆ
          4. ผลไม้ เช่น มะม่วง สับปะรด แอปเปิ้ล

 

https://www.honestdocs.co/benefits-of-zinc-and-too-much-too-little-consumption

    << Go Back