<< Go Back

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (อังกฤษ: introduced species) หมายถึงสิ่งมีชีวิตใดๆ ที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ดั้งเดิมในพื้นที่นั้นๆ หรือมีต้นกำเนิดอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ แต่เป็นชนิดพันธุ์หรือสิ่งมีชีวิตถูกนำเข้ามาหรือแพร่กระจายมาจากที่อื่น ชนิดพันธุ์ที่นำเข้ามานั้น อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลเสียต่อระบบนิเวศดั้งเดิมได้

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2542 ประเทศไทยมีจำนวนชนิดพรรณพืชต่างถิ่น 915 ชนิด แต่ในปัจจุบันมีพรรณพืชต่างถิ่นอีกหลายชนิดที่พบใหม่ โดยในปี พ.ศ. 2547 พบว่า มีจำนวน 1,763 ชนิด และจำนวนชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นที่คาดว่าเป็นชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นรุกราน มีจำนวน 14 ชนิด โดยหลายชนิดเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพถิ่นที่อยู่ และชนิดพันธุ์ท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เช่น ไมยราบยักษ์ บัวตอง และ ธูปฤๅษี เป็นต้น
ข้อมูลชนิดและจำนวนสัตว์ต่างถิ่น 4 กลุ่ม คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) นก (Birds) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibians) และสัตว์เลื้อยคลาน (Reptiles) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2547 ที่มีการนำเข้าและส่งออกในประเทศไทยและจัดอยู่ในอนุสัญญา CITES พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าสัตว์ต่างถิ่นทั้งหมด 258 ชนิด จำนวนทั้งสิ้น 25,004 ตัว และมีการส่งออกสัตว์ต่างถิ่น (โดยรวมทั้งชนิดสัตว์ที่มีประเทศไทยเป็นถิ่นกำเนิด และประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านของสัตว์ต่างถิ่น) ทั้งหมด 108 ชนิด จำนวนทั้งสิ้น 64,848 ตัว และเมื่อนำสัตว์ต่างถิ่นที่มีการส่งออก หักออกจากจำนวนสัตว์ต่างถิ่นที่มีการนำเข้าในประเทศแล้ว พบว่า มีจำนวนสัตว์ต่างถิ่นคงเหลือในประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สัตว์ต่างถิ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายพันธุ์ และมีแนวโน้มการนำเข้าในประเทศมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ หรือผู้ที่ต้องการนำไปเลี้ยงที่มีเพิ่มจำนวนมากขึ้นนั่นเอง
ข้อมูลชนิดของแมลงต่างถิ่น (Alien species) และแมลงต่างถิ่นรุกราน (Invasive species) ที่พบในประเทศไทย พบแมลงต่างถิ่นจำนวนทั้งสิ้น 66 ชนิด ใน 7 อันดับ (ประกอบด้วย Coleoptera, Diptera, Hemiptera, Homoptera, Hymenoptera, Lepidoptera และ Thysanoptera) และจัดเป็นแมลงต่างถิ่นรุกราน จำนวน 29 ชนิด ในทั้ง 7 อันดับ
แมลงต่างถิ่นที่ได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2549 มีแนวโน้มของจำนวนตัวและจำนวนชนิดค่อนข้างมาก โดยพบว่าแมลงที่นำเข้ามาส่วนใหญ่เป็นพวกกลุ่มผีเสื้อ (Butterflies) และกลุ่มด้วง (Beetles) พบทั้งหมด 47 ชนิด 5,790 ตัว
สัตว์น้ำต่างถิ่นในประเทศไทย ได้มีการนำเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คือ ปลาเงินปลาทอง (Carassius auratus) เพื่อใช้เพาะเลี้ยงเป็นอาหารและสัตว์น้ำสวยงาม ปัจจุบันพบว่ามีสัตว์น้ำต่างถิ่นในประเทศไทยมากกว่า 1,100 ชนิด จากประเทศต่าง ๆ เช่น ปลา ประมาณ 1,000 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ประมาณ 50 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน ประมาณ 50 ชนิด หอย 3 ชนิด กุ้ง ปู 8 ชนิด

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive alien species) หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (alien species)ที่เกิดขึ้นในที่ที่แตกต่างจากพื้นที่การแพร่กระจายตามธรรมชาติ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นบางชนิดแพร่ระบาดจนกลายเป็นรุกราน (invasive alien species) หมายถึงว่า ชนิดพันธุ์นั้นคุกคามระบบนิเวศ แหล่งที่อยู่อาศัย หรือชนิดพันธุ์อื่นๆ มีหลายปัจจัยที่มีผลเกื้อหนุนให้ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นตั้งรกรากและรุกรานในที่สุด เป็นที่ทราบกันว่า อิทธิพลทางกายภาพและทางเคมีที่มนุษย์ มีต่อระบบนิเวศได้เพิ่มโอกาสให้ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น กลายเป็นชนิดพันธุ์ที่แพร่ระบาดและรุกราน

เหตุใดจึงได้ให้ความสนใจต่อชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน?
การรุกรานของชนิดพันธุ์ได้รับการระบุว่า เป็นการคุกคามที่ร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก เป็นอันดับสองรองจากการทำลาย แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ในบางประเทศถึงว่าเป็นการคุกคามที่สำคัญที่สุด ชนิดพันธุ์เหล่านี้คุกคามระบบธรรมชาติและระบบการผลิตซึ่งมันแพร่ระบาด เข้าไป ในหลายกรณีได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างสิ้นเชิง เกิดการครอบครองพื้นที่โดยชนิดพันธุ์เดียว และเกิดการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ พื้นเมือง ซึ่งมักจะส่งผลให้เกิดปัญหาสำคัญทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สุขอนามัย และสังคม ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนับล้านดอลล่าร์สหรัฐและมีผลเสียหาย ร้ายแรงต่อ เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาสู่ประเทศได้อย่างไร?
การนำเข้าพืชหรือสัตว์จากต่างประเทศ อาจเป็นไปโดยอุบัติเหตุหรือโดยจงใจ พาหะที่สำคัญที่สุดในการนำเข้าชนิดพันธุ์ที่รุกรานโดยไม่จงใจ คือ การเดินทางและการขนส่งระหว่างประเทศนั่นคือเกี่ยวข้องกับการค้าขายแลกเปลี่ยน การพาณิชย์และเกี่ยวกับการเดินทางและการท่องเที่ยว ในขณะที่พาหะ ที่สำคัญที่สุดของการนำเข้าโดยจงใจเกี่ยวข้องกับระบบการผลิตทาง ชีวภาพ ได้แก่ การเกษตร การป่าไม้ และการประมง
เมื่อชนิดพันธุ์พืชหรือสัตว์ใดๆ ถูกนำเข้าไปในส่วนใดๆ ของโลก หากไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ ณ ที่นั้น ประชากรของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นก็จะเจริญ เติบโตกลายเป็นศัตรูพืชหรือศัตรูสัตว์ ด้วยวิธีนี้ ชนิดพันธุ์ที่ผู้คนนำเข้าประเทศมาโดยมิได้ตั้งใจ ก็มักจะเป็นวัชพืชอยู่ในไร่นา ส่วนชนิดพันธุ์ที่มีผู้จงใจที่นำ เข้ามาเพื่อปลูกเป็นไม้ประดับหรือพืชเศรษฐกิจหรือเพาะเลี้ยงในฟาร์ม มีหลายกรณีที่เล็ดลอดออกจากแปลงเพาะปลูกหรือ ฟาร์มเพาะเลี้ยง ออกไปรุกราน แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ระบบนิเวศต่างๆ ไม่ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำ ทุ่งหญ้า และป่าไม้ ล้วนแล้วแต่ถูกคุกคามโดยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ซึ่งรวมถึง สัตว์มี กระดูกสันหลัง วัชพืช สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และเชื้อโรคพืช หรือเชื้อโรคสัตว์ ซึ่งอาจฆ่าหรือเข้าแทนที่ชนิดพันธุ์พืชหรือสัตว์พื้นเมืองได้
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นสามารถเข้าไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ได้สามแนวทางหลัก คือ
- การแพร่กระจายเข้าไปโดยความสามารถของชนิดพันธุ์เองเมื่อมีโอกาส
- การชักนำเข้าไปโดยบังเอิญจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
- การนำพาโดยผู้คนที่จงใจและมิได้จงใจ
** เอกสารเกี่ยวกับการนำสัตว์น้ำออกนอกราชอาณาจักร

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานส่งผลกระทบอย่างไร?
ผลกระทบต่อระบบนิเวศ : ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานสามารถเปลี่ยนระดับหรือปริมาณของแสง และลดปริมาณของออกซิเจนที่ละลายในน้ำ, เปลี่ยนโครงสร้างและองค์ประกอบทางเคมีของดิน, เพิ่มปริมาณน้ำไหลบนพื้นผิว และการกัดเซาะหน้าดิน ที่สำคัญที่สุดคือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น สามารถส่งผล กระทบต่อกระบวนการในระบบนิเวศ เช่น วัฏจักรของสารอาหาร, การถ่ายละอองเกสร, การทับถมหรือเกิดชั้นดินขึ้นมาใหม่ และการถ่ายเทพลังงาน นอก จากนี้ยังอาจมีลักษณะหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงภัยธรรมชาติ หรือสภาวะที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น ความถี่, การแพร่กระจาย และความรุนแรง ของไฟป่า หรือขัดขวางกระแสน้ำ
ผลกระทบต่อชนิดพันธุ์ในท้องถิ่น : ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีลักษณะเป็นผู้รุกรานจะดำรงชีวิตแบบแก่งแย่ง, แทนที่หรือบริโภคสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่นหรือ อาจเป็นปรสิต หรือพาหะนำโรค, ลดอัตราการเจริญเติบโตและการอยู่รอดของชนิดพันธุ์ท้องถิ่น หรืออาจทำให้จำนวนประชากรลดลงจนถึงขั้นสูญพันธุ์ และ อาจถอนรากถอนโคนหรือทำความเสียหายแก่พืชในท้องถิ่นด้วย
ผลกระทบต่อความหลากหลายทางพันธุกรรม : ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นสามารถลดความหลากหลายทางพันธุกรรมลงได้ จากการสูญเสียจำนวน ประชากรที่มีลักษณะเด่นทางพันธุกรรม การสูญเสียยีน และความซับซ้อนของยีน (gene complex) และการผสมข้ามชนิด พันธุ์หรือสายพันธุ์ระหว่างชนิด พันธุ์ต่างถิ่นกับชนิด พันธุ์พื้นเมือง
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ : ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ รุกรานจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือผันแปรในวงกว้างอยู่ตลอด เวลา เช่น ในสหรัฐอเมริกา ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานก่อให้เกิดความเสียหายถึงประมาณปีละ 123 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจัดว่าเป็นภัยสำคัญอันดับสอง รองจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งคุกคามชนิดพันธุ์พื้นเมืองจนแทบสูญพันธุ์ นักนิเวศวิทยาสรุปว่าลักษณะพิเศษของการรุกรานทางชีวภาพ คือ เมื่อ เกิดขึ้นและดำเนินไปแล้ว ความเสียหายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นสามารถดำรงอยู่ต่อไป และอาจเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าได้จัดการกับต้นตอของปัญหาได้แล้วก็ ตาม

 


                         https://th.wikipedia.org/wiki/ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
                         http://chm-thai.onep.go.th/chm/data_province/Chiangmai/alien_spp.html

<< Go Back