<< Go Back

ความหมายของการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง
"การสุ่มตัวอย่าง" คือการทำให้ได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่มีความเป็นตัวแทน เพื่อใช้ศึกษาข้อมูลแทนประชากรเพื่อทำการสรุปอ้างอิงทางสถิติเกี่ยวกับค่าที่แท้จริงของประชากร นั่นคือ การสุ่มตัวอย่างจะต้องทำโดยปราศจากความลำเอียง เพื่อที่ค่าสถิติที่คำนวณได้จากกลุ่มตัวอย่างจะมีค่าใกล้เคียงหรือเกือบเท่าค่าพารามิเตอร์ของประชากร
1. ประชากร ประชากร หมายถึง กลุ่มของข้อมูลหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการศึกษาทั้งหมดอาจจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ เหตุการณ์ ปรากฏการณ์หรือพฤติกรรมต่าง ๆ และอาจจะเป็นประชากรที่นับได้หรือประชากรที่นับไม่ได้
2. ตัวอย่าง ตัวอย่าง เป็นส่วนหนึ่งของประชากร ที่ถูกเลือกมาด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เป็นตัวแทนของประชากรนั้นบางครั้งเป็นประชากรทั้งหมดก็ได้ประโยชน์ของการสุ่มตัวอย่างแทนการศึกษาจากประชากรทั้งหมด  คือความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงนิยมใช้ตัวอย่างเป็นตัวแทนของประชากร ซึ่งตัวอย่างที่ใช้จะเป็นตัวแทนที่ดีของประชากรได้เพียงไรขึ้นอยู่กับทฤษฎีการสุ่มตัวอย่าง ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป
3. ค่าพารามิเตอร์ ค่าพารามิเตอร์ หมายถึง ค่าอันแท้จริงของประชากรที่หาได้โดยวิธีทางสถิติ เพื่ออธิบายถึงลักษณะต่าง ๆ ของประชากร เป็นค่าที่คงที่ นิยมใช้สัญลักษณ์อักษรกรีก แทนค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ เช่น ค่าเฉลี่ย ใช้สัญลักษณ์ μ (อ่านว่า มิว) ค่าความแปรปรวน ใช้สัญลักษณ์ σ^2 (อ่านว่า ซิกมากำลังสอง) ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ใช้สัญลักษณ์ ρ (อ่านว่า โร)
ข้อดีของการสุ่มตัวอย่าง
1. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานเก็บข้อมูลและค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเนื่องจากปริมาณของข้อมูลที่เก็บและประมวลผลมีจำนวนน้อยลง
2. ประหยัดเวลาในการเก็บข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่ต้องเก็บมีปริมาณไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด
3. ได้ข้อมูลที่ทันสมัยและใช้ประโยชน์ได้ทันเวลา เพราะเป็นการศึกษาเป็นบางส่วนของประชากรทำให้เสียเวลาน้อยกว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมด และเวลาที่ใช้ในการประมวลผลก็น้อยกว่า จึงทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ทันสมัย ใช้ประโยชน์ได้ตามที่ต้องการ
4. สามารถศึกษาวิเคราะห์ลักษณะหรือสภาวะของประชากรที่กำลังศึกษาได้ลึกและสมบูรณ์กว่าการศึกษาข้อมูลจำนวนมาก ๆ เพราะการสุ่มตัวอย่างเป็นการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเหมาะสมและเป็นตัวแทนของประชากร จึงทำให้มีเวลาศึกษาข้อมูลได้อย่างละเอียดและควบคุมตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำและรัดกมกว่าศึกษาจากประชากรจำนวนมาก ๆ
5. สามารถศึกษาค้นคว้าจากประชากรที่มีจำนวนมาก มีความเป็นไปได้ เพราะการสุ่มตัวอย่างจะได้กลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวแทนของประชากร และใช้กลุ่มตัวอย่างนี้ศึกษาตัวแทนประชากร
6. สามารถวิเคราะห์ข้อมูลบางประเภทที่ไม่สามารถศึกษาได้ทั้งหมด เช่น การศึกษาประสิทธิภาพของลูกกระสุน ในการศึกษานี้จะต้องทำลายลูกกระสุนที่ศึกษาไป ซึ่งไม่สามารถทำลูกกระสุนที่ถูกทำลายกลับมาใช้ได้ใหม่ นั่นคือไม่สามารถศึกษาลูกกระสุนทั้งหมดได้ จึงต้องมีการสุ่มตัวอย่าง
7. ถ้าทำการเลือกตัวอย่างที่ดีแล้ว การศึกษาตัวอย่างจะให้ผลที่เที่ยงมากกว่าการศึกษาจากประชากรโดยตรง

 

 

http://statisticapp.weebly.com/358536343619362636403656361736053633362336293618365636343591.html

    << Go Back