<< Go Back

จุลินทรีย์ คืออะไร ?
จุลินทรีย์ (microorganism) อาศัยร่วมอยู่ในโลกเรามาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าอัศจรรย์ จุลินทรีย์มีขนาดเล็ก เล็กขนาดที่ว่าไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ จุลินทรีย์ที่เราพอทราบทั่วๆไปก็คือ จำพวก แบคทีเรีย อาร์เคีย รา และ ยีสต์ เป็นต้น
แล้วจุลินทรีย์สำคัญยังไง ?
หน้าที่หลักๆทั่วไปของ จุลินทรีย์ ก็คือ “เป็นผู้ย่อยสลาย” ย่อยสลายทุกสิ่งอย่างที่ตัวมันสามารถย่อยได้ให้มีขนาดเล็ก และกลายเป็นธาตุอาหารที่มีประโยชน์ ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารประกอบอินทรีย์ที่มีโครงสร้างซับซ้อน เปลี่ยนแปลงโมเลกุลหนึ่งไปเป็นอีกโมเลกุลหนึ่ง เช่น ย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ ให้กลายเป็นแร่ธาตุ ย่อยสลายไขมันในน้ำเสียให้กลายเป็นอ๊อกซิเจนในน้ำ เป็นต้น
บทบาทและความสำคัญของจุลินทรีย์ ต่อการบำบัดน้ำเสีย และกลิ่นเน่าเหม็น
- กระบวนการบำบัดน้ำเสียตามธรรมชาติ โดยอาศัยจุลินทรีย์ในธรรมชาติหรือการเติมจุลินทรีย์เข้ามาเพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์ เพื่อลดค่า BOD โดยหน้าที่ของจุลินทรีย์คือการย่อยสลายไปพร้อมๆกับการเพิ่มปริมาณอ๊อกซิเจนในน้ำ
- จุลินทรีย์ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ในน้ำ รวมถึงเร่งปฏิกิริยาการย่อยสลายของกองขยะที่หมักหมม
- จุลินทรีย์บางชนิดสามารถช่วยลดปริมาณแมลงวันและยุงได้ (ลดปริมาณตัวอ่อนของใข่ยุงและใข่แมลงวัน)
บทบาทและความสำคัญของจุลินทรีย์ ต่อการย่อยสลายสารอินทรีย์และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน
- บักเตรี (bacteria) แอคที่โนมายซีส (actinomycetes) ฟังไจ (fungi) แอลจี (algae) เหล่านี้ล้วนเป็นจุลินทรีย์ในดิน พวกแบคทีเรียและราชนิดต่างๆ ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์จากซากสิ่งมีชีวิตให้กลายเป็นสารอนินทรีย์(ปุ๋ย) ซึ่งเป็นสารอาหารหลักของพืช
- ช่วยปรับสภาพดิน ดินที่มีจุลินทรีย์จะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีผลต่อการการสลายตัวของอินทรียสาร
- จุลินทรีย์ที่อยู่ในดินช่วยทำให้เกิดขบวนการตรึงไนโตรเจน (nitrogen fixation) รวมถึงช่วยในการสร้างฮอร์โมน และ growth factor
บทบาทและความสำคัญของจุลินทรีย์ ต่อการผลิตอาหารทั้งในคนและสัตว์
- จุลินทรีย์ในกลุ่มแลคโตบาซิลลัส (lactobacillus) เป็นจุลินทรีย์ในกลุ่มที่เรียกว่า โปรไบโอติคส์ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์มีประโยชน์ต่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่โดยการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกายของคนและสัตว์ที่บริโภคเข้าไป ยกระดับภูมิคุ้มกันโรค ช่วยเสริมสร้างระบบการย่อยและการขับถ่าย จุลินทรีย์ในกลุ่มแลคโตบาซิลลัสสามารถพบได้ตามปกติในทางเดินอาหาร ยกตัวอย่างอาหารที่ใช้จุลินทรีย์กลุ่มนี้ก็เช่น นมเปรี้ยว เนยแข็ง โยเกิร์ต
- จุลินทรีย์จำพวกยีสต์ (yeast) ยีสต์เป็นจุลินทรีย์กลุ่มจำพวก รา มนุษย์เรามีการนำยีสต์มาใช้ประโยชน์นานมาแล้ว โดยเฉพาะการหมักอาหาร หรือในกระบวนการทำขนมปัง และที่สำคัญ ยีสต์ถูกนำมาผลิตอาหารจำพวกแอลกอฮอล์ เช่นเบียร์ ไวน์ ไซเดอร์ สิ่งเหล่านี้ล้วนอาศัยยีสต์ในกระบวนการหมักด้วยกันทั้งนั้น
บทบาทและความสำคัญของจุลินทรีย์ ต่อวงการอุตสาหกรรม
- จุลินทรีย์ในกลุ่มแบคทีเรีย (Bacteria) อุตสาหกรรมหลายชนิดเกิดขึ้นได้จากการใช้ประโยชน์ของแบคทีเรีย เช่น การผลิตกรดแล็กติก
- เชื้อราหลายชนิดที่เปลี่ยนน้ำตาลเป็นกรดส้มได้ แต่ที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง คือ Aspergillus niger กรดส้มที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นเครื่องปรุงรสอาหาร ในอุตสาหกรรมน้ำหมึก สีย้อม และใช้ในวงการแพทย์
- เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ได้จากจุลินทรีย์หลายชนิด สามารถใช้สังเคราะห์กรดอะมิโนจากสารประกอบไนโตรเจน
- เอนไซม์อินเวอร์เทส (Invertase) ได้จากยีสต์ S. cerevisiae ใช้ย่อยซูโครสให้เป็นกลูโคสกับฟรักโทส จึงใช้ในอุตสาหกรรมทำลูกกวาด ไอศกรีม
- โปรตีเอส (Protease) เอนไซม์ที่ย่อยโปรตีน ได้จาก Bacillus subtilis และ A. oryzae ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง การทำกาว การทำให้เนื้อนุ่ม ทำให้เครื่องดื่มใส
บทบาทและความสำคัญของจุลินทรีย์ ต่อการผลิตเชื้อเพลิง
- จุลินทรีย์จำพวกยีสต์ (yeast) แอลกอฮอล์จากยีสต์ นอกจากเพื่อใช้ประโยชน์ดังที่ได้เคยกล่าวมาข้างต้นแล้ว แอลกอฮอล์ยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิงได้ โดยการผสมแอลกอฮอล์ประมาณ 10-15% กับน้ำมันที่เรียกว่า แก๊สโซฮอล์ (Gasohol)
- ก๊าซมีเทน (CH4) คือ ก๊าซชีวภาพที่ได้จากการหมักมูลสัตว์และของเสียจากสัตว์ ด้วยแบคทีเรียชนิดไม่อาศัยออกซิเจน (Anaerobic) ทำให้เกิดกลุ่มก๊าซขี้นขณะเกิดการย่อยสลาย โดยกลุ่มก๊าซนี้สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการปรุงอาหารและกระบวนการอื่นๆได้อีกมากมาย

 

http://www.ex-m.net/การทำงานของจุลินทรีย์/

    << Go Back