<< Go Back

               1. เพื่อให้นักเรียนสามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศ
               2. เพื่อให้นักเรียนสามารถสรุปความสัมพันธ์แบบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต
               3. เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้สัญลักษณ์แทนความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ

               ให้นักเรียนยกตัวอย่างสิ่งมีชีวิต ตามรูปแบบความสัมพันธ์แบบต่างๆ ที่กำหนดให้ ดังต่อไปนี้
                       1. ภาวะพึ่งพากัน
                       2. การได้รับประโยชน์ร่วมกัน
                       3. ภาวะอิงอาศัย
                       4. การล่าเหยื่อ
                       5. ภาวะปรสิต
                       6. ภาวะแก่งแย่งแข่งขัน

ผลการทดลองที่ได้ คือ

รูปแบบความสัมพันธ์ สัญลักษณ์ ผลการสำรวจ
1. ภาวะพึ่งพาอาศัย (mutualism) +,+ ต้นไทรกับต่อไทร , โพรโทซัวในลำไส้ปลวกกับปลวก ไลเคน ไรโซเบียมในปมรากถั่ว ,ราไมคอร์ไรซาในรากสนหรือรากปรง ฯลฯ
2. การได้ประโยชน์ร่วมกัน (protocooperation) +,+ ดอกไม้กับแมลง , นกเอี้ยงกับควาย , มดดำกับเพลี้ย , ซีแอนีโมนีกับปูเสฉวน ฯลฯ
3. ภาวะเกื้อกูล (commensalism) +,0 เฟินบนต้นไม้ใหญ่ , เหาฉลามกับปลาฉลาม นกทำรังบนต้นไม้ , เพรียงหินบนกระดองเต่า
4. การล่าเหยื่อ (predation) +,- นกกินหนอน , เสือล่ากวาง เหยี่ยวล่ากระต่าย , งูกินกบ
5. ภาวะเป็นปรสิต (parasitism) +,- กาฝากบนต้นไม้ , พยาธิใบไม้ในตับสัตว์ , เหาบนศีรษะคน , เห็บหรือหมัดบนผิวลำตัวสุนัข , พยาธิตัวตืดในกล้ามเนื้อหมู
6. ภาวะแก่งแย่งแข่งขัน (competition) -,- การแย่งธาตุอาหารและแสงสว่างของพืช เช่นผักตบชวาในบึง บัวในสระ การแย่งเป็นจ่าฝูงในสัตว์บางชนิด เช่น สิงโต เสือ ปลาในบ่อเลี้ยงที่แย่งอาหารกัน เช่น ปลาสวาย ปลาดุกการแย่งกันครอบครองอาณาเขต เช่น ฝูงลิง เสือ สิงโต ฯลฯ

สรุปได้ว่า
ความสัมพันธ์แบบภาวะพึ่งพาอาศัย คือ สิ่งมีชีวิต 2 ชนิดที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ขาดชนิดหนึ่งชนิดใดไม่ได้ และต่างได้รับผลประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เช่น โพรโทซัวในลำไส้ปลวกถ้าปลวกตายโพรโทซัวก็จะอยู่ไม่ได้และตายไป
ความสัมพันธ์แบบได้รับประโยชน์ร่วมกัน เป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งสองฝ่ายได้รับผลประโยชน์แต่สิ่งมีชีวิต 2 ชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันเสมอไป เช่น ดอกไม้กับแมลงเมื่อแมลงนำน้ำหวานจากดอกไม้แล้วก็อาจบินไปที่อื่น และอาจกลับมาใหม่เมื่อต้องการน้ำหวานอีก
ความสัมพันธ์แบบภาวะเกื้อกูล เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ที่ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ ส่วนอีกฝ่ายไม่ได้และไม่เสียประโยชน์ เช่น พลูด่างกับต้นไม้ใหญ่ ,กล้วยไม้กับต้นไม้ , ปลาฉลามกับเหาฉลาม เป็นต้น
ความสัมพันธ์แบบการล่าเหยื่อ ความสัมพันธ์แบบนี้จะมีฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ เรียกว่า ผู้ล่า (predator) ซึ่งมักจะมีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่า อีกฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์และต้องตายเพราะ ถูกกินเป็นอาหารเรียกว่า เหยื่อ (prey) ซึ่งจะอ่อนแอกว่า
ความสัมพันธ์แบบภาวะเป็นปรสิต เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่ฝ่ายหนึ่งจะได้รับประโยชน์อีกฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์อาจจะอาศัยอยู่ภายในหรือ ภายนอกร่างกายของผู้เสียประโยชน์ เรียกสิ่งมีชีวิตที่ได้รับประโยชน์ว่า ปรสิต (parasite)และเรียกผู้เสียประโยชน์ว่า ผู้ถูกอาศัย (host) โดยปรสิตจะแย่งอาหารหรือกินบางส่วนของร่างกายผู้ถูกอาศัย แต่ไม่ถึงกับทำให้ผู้ถูกอาศัยตายเพียงแต่เกิดความรำคาญ หรือ อาจก่อให้เกิดโรคได้ เป็นต้น
ความสัมพันธ์แบบภาวะแก่งแย่งแข่งขัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งสองฝ่ายมีการแข่งขันกัน ต้องการปัจจัยเดียวกัน แต่ปัจจัยนั้นมีจำกัด จึงต้องแข่งขันกัน เพื่อให้ได้ปัจจัยนั้น เช่น กวางตัวผู้ต่อสู้เพื่อแย่งกวางตัวเมีย เป็นต้น

 

<< Go Back