<< Go Back

การตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์

การปลูกพืชจะประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสภาพของเมล็ดพันธุ์ การเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ อาจเกิดจากการเสื่อมสภาพของเยื่อหุ้มเซลล์ การทำงานของเอนไซม์และอัตราการหายใจ ที่ลดลงในการนำเมล็ดมาเพาะปลูก หรือนำออกจำหน่ายจำเป็นจะต้องตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ว่ามีคุณภาพหรือเสื่อมคุณภาพ
การตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์นั้น มีการตรวจสอบคุณภาพต่างๆ หลายประการเช่น ความสามารถในการงอกหรือความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์ การตรวจสอบความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ ความชื้นของเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น
ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการตรวจสอบความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์พืชเท่านั้น ความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์พืช (seed vigour)หมายถึง ลักษณะรวมๆ หลายประการของเมล็ดอันเป็นลักษณะเด่นที่เมล็ดสามารถแสดงออกมา เมื่อนำเมล็ดนั้นไปเพาะในสภาวะแวดล้อมที่แปรปรวน และไม่เหมาะสม เมล็ดที่มีความแข็งแรงสูงจะสามารถงอกได้ดี ส่วนเมล็ดที่มีความแข็งแรงต่ำไม่สามารถงอกได้หรืองอกได้น้อย การตรวจสอบความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น การเร่งอายุของเมล็ดพันธุ์ การวัดดัชนีการงอกของเมล็ด เป็นต้น
การเร่งอายุของเมล็ดพันธุ์ เป็นการกระทำเพื่อใช้ตรวจสอบความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์เพื่อที่จะทำนายว่าเมล็ดพันธุ์นั้น เมื่อเก็บรักษาไว้เป็นเวลานานแล้วจะมีค่าร้อยละของการงอกสูงหรือไม่
วิธีการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ก็คือ
นำตัวอย่างของเมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่ต้องการตรวจสอบมาใส่ไว้ในตู้อบที่อุณหภูมิระหว่าง 40 –50 องศาเซสเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 100 เป็นเวลา 2–8 วัน แล้วนำมาเพาะหาค่าร้อยละของการงอก ถ้าเมล็ดพันธุ์จากแหล่งใดเมื่อผ่านการเร่งอายุแล้วมีค่าร้อยละของการงอกสูง แสดงว่าเมล็ดพันธุ์แหล่งนั้นแข็งแรง ซึ่งจะทำนายได้ว่า เมล็ดพันธุ์นั้นถูกเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์เป็นเวลา 12 –18 เดือน เมื่อนำมาเพาะก็จะมีค่าร้อยละของการงอกสูงเช่นกัน
การวัดดัชนีการงอกของเมล็ดพันธุ์ อาศัยหลักการที่ว่า เมล็ดพันธุ์ใดที่มีความแข็งแรงสูง ย่อมจะงอกได้เร็วกว่าเมล็ดพันธุ์ที่มีความแข็งแรงต่ำ
วิธีการวัดดัชนีการงอก ทำได้โดยการนำตัวอย่างของเมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่ต้องการตรวจสอบมาเพาะแล้วนับจำนวนเมล็ดที่งอกทุกวัน นำมาคำนวณหาค่าดัชนีการงอกโดยเปรียบเทียบกับเมล็ดพันธุ์พืชชนิดเดียวกับจากแหล่งอื่นๆ
สูตร : ดัชนีการงอกของเมล็ดพันธุ์ = ผลบวกของ { จำนวนเมล็ดที่งอกในแต่ละวัน }จำนวนวันเมล็ดที่เพาะ
การตรวจสอบความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์แต่ละวิธีมีวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบแตกต่างกันไป คือวิธีการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์นั้นเหมาะสำหรับผู้ที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อการจำหน่ายหรือเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์นั้นไว้เพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป ส่วนการหาค่าดัชนีการงอกของเมล็ดพันธ์นั้น เหมาะสำหรับเกษตรกรที่จะใช้ตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ก่อนที่จะนำไปเพาะปลูก
เมล็ดมีความสำคัญในแง่ที่เป็นแหล่งสะสมพันธุกรรมของพืช เพราะในเซลล์ของเอ็มบริโอทุกเซลล์มีสารพันธุกรรมหรือยีนพืชชนิดนั้นๆ อยู่ แม้ว่าต้นพืชชนิดนั้นจะตายไป แต่ถ้ามีการเก็บเมล็ดของพืชนั้นไว้ก็ยังมียีนของพืชนั้นๆ ที่พร้อมจะขยายพันธุ์ต่อไปได้ ปัจจุบันนี้หลายประเทศได้ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์พันธุ์พืชเป็นอย่างมาก สำหรับประเทศไทยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งธนาคารพันธุ์พืชแห่งชาติขึ้น เพื่อเก็บรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์พืชชนิดต่างๆ ทั่วประเทศไทยเช่น พันธุ์พืชที่หายาก และใกล้จะสูญพันธุ์หรือพันธุ์ที่ดีมีประโยชน์ เป็นต้น เพื่อไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชต่างๆในอนาคต

 


http://www.allkaset.com/mobile/contents/การตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์-53.php

    << Go Back