<< Go Back

ข้อ หรือ ข้อต่อ (อังกฤษ: Joints) ในทางกายวิภาคศาสตร์ หมายถึงบริเวณที่กระดูกตั้งแต่สองชิ้นขึ้นไปมีการติดต่อกัน ทำให้กระดูกมีการทำงานร่วมกันเป็นระบบเพื่อการค้ำจุนปกป้องร่างกายและการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสม ข้อต่อในร่างกายมนุษย์มีหลายแบบ และสามารถจัดจำแนกได้ตามลักษณะโครงสร้าง และคุณสมบัติในการเคลื่อนไหว

ข้อต่อจัดจำแนกตามโครงสร้าง
เราสามารถแบ่งชนิดของข้อต่อในร่างกายได้ตามลักษณะการติดต่อกันของกระดูกแต่ละชิ้น โดยแบ่งได้เป็นสามแบบ คือ ข้อต่อ(ชนิด)เส้นใย (fibrous joints) ข้อต่อ(ชนิด)กระดูกอ่อน (cartilaginous joints) และข้อต่อ(ชนิด)มีไขข้อหรือข้อต่อ(ชนิด)ซินโนเวียล (synovial joints)
ข้อต่อชนิดเส้นใย (Fibrous joints)
ในข้อต่อลักษณะนี้ กระดูกจะเชื่อมติดกันโดยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนาแน่น (dense connective tissue) ซึ่งทำให้ข้อต่อชนิดนี้เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวได้น้อยมาก ข้อต่อในลักษณะนี้ยังแบ่งได้เป็นสามแบบ คือ
1. รอยประสานกระดูก (Sutures) เป็นข้อต่อที่อยู่ระหว่างกระดูกแต่ละชิ้นของกะโหลกศีรษะ จะมีลักษณะเป็นแนวรอยต่อที่ประกบกันอย่างสนิทคล้ายกับการเข้าไม้ และมีความคงทนแข็งแรงมาก
2. ข้อต่อเอ็นยึด (Syndesmosis) เป็นข้อต่อที่มีแผ่นของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนาแน่นขึงอยู่ พบในกระดูกแบบยาว เช่นระหว่างกระดูกเรเดียสและกระดูกอัลนาของรยางค์บน และกระดูกทิเบียกับกระดูกฟิบูลาในรยางค์ล่าง ข้อต่อในลักษณะนี้จะเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย
3. ข้อต่อเบ้าฟัน, ข้อต่อรากฟัน (Gomphosis) เป็นข้อต่อระหว่างรากฟันกับเบ้าฟันของกระดูกขากรรไกรบน (maxilla) และกระดูกขากรรไกรล่าง (mandible)
ข้อต่อชนิดกระดูกอ่อน (Cartilaginous joint)
ข้อต่อในแบบนี้จะมีการเชื่อมติดกันโดยมีกระดูกอ่อนคั่นอยู่ตรงกลาง เนื่องจากกระดูกอ่อนมีความยืดหยุ่น จึงทำให้ข้อต่อในลักษณะนี้มีการเคลื่อนไหวได้มากกว่าข้อต่อแบบเส้นใย แต่น้อยกว่าข้อต่อแบบซินโนเวียล ข้อต่อแบบกระดูกอ่อนสามารถจำแนกออกได้เป็นสองแบบ ตามลักษณะของกระดูกอ่อน คือ
1. ข้อต่อกระดูกอ่อนไฮยาลิน (Synchondrosis) เป็นข้อต่อที่กระดูกสองชิ้นเชื่อมกันด้วยกระดูกอ่อนแบบไฮยาลิน (hyaline cartilage) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนที่พบได้ตามปลายของกระดูก ตัวอย่างของข้อต่อในลักษณะนี้ ได้แก่ข้อต่อระหว่างกระดูกซี่โครงกับกระดูกอก
2. ข้อต่อกระดูกอ่อนเส้นใยหรือแนวประสานกระดูก (Symphysis) เป็นข้อต่อที่กระดูกสองชิ้นเชื่อมกันด้วยกระดูกอ่อนแบบเส้นใย (Fibrocartilage) ทำให้มีความแข็งและเหนียว ตัวอย่างเช่น หมอนรองกระดูกสันหลัง (intervertebral discs) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนแบบเส้นใยที่เชื่อมต่อกระดูกสันหลังแต่ละท่อน
ข้อต่อ(ชนิด)มีไขข้อ หรือข้อต่อ(ชนิด)ซินโนเวียล (Synovial joint)
ข้อต่อ(ชนิด)ซินโนเวียลจะไม่ได้มีการเชื่อมติดต่อกันของกระดูกโดยตรง แต่จะมีโครงสร้างที่เรียกว่า ปลอกหุ้มข้อต่อ (articular capsule) เป็นตัวกลาง และภายในแคปซูลข้อต่อนี้จะเป็นโพรงข้อต่อ (articular space) ซึ่งจะมีของเหลวคือ น้ำไขข้อ (synovial fluid) ที่สร้างจากเนื้อเยื่อโดยรอบปลอกหุ้มข้อต่อ ช่วยในการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ข้อต่อ(ชนิด)ซินโนเวียลนี้จึงเป็นข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้มาก และพบได้ในเกือบทุกข้อต่อของทั้งรยางค์บนและรยางค์ล่าง

ข้อต่อจัดจำแนกตามคุณสมบัติในการเคลื่อนไหว
ข้อต่อยังสามารถจำแนกได้ตามลักษณะและระดับของในการเคลื่อนไหว ซึ่งโดยทั่วไปก็จะสอดคล้องกับลักษณะทางโครงสร้างของข้อต่อนั้นๆ โดยสามารถจำแนกได้เป็นสามแบบ คือข้อต่อที่เคลื่อนไหวไม่ได้ (Synarthrosis) ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้น้อย (Amphiarthrosis) และข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้มาก (Diarthrosis)

ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้มาก ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ 1. แบบเบ้า 2. แบบวงรี 3. แบบอานม้า 4. แบบบานพับ 5. แบบเดือย

- ข้อต่อที่เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือข้อต่อติดแน่น (Synarthrosis) และข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้น้อย หรือข้อต่อกึ่งติดแน่น (Amphiarthrosis)
ข้อต่อในทั้งสองแบบนี้มักมีการเชื่อมต่อกันโดยตรง หรือมีกระดูกอ่อนเป็นตัวเชื่อม จึงทำให้การเคลื่อนไหวจำกัดอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ข้อต่อในลักษณะนี้จะมีความเสถียรสูง โดยส่วนใหญ่ข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวที่จำกัดนี้จะเป็นข้อต่อ(ชนิด)เส้นใย หรือเป็นข้อต่อ(ชนิด)กระดูกอ่อน
- ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้มาก หรือข้อต่ออิสระ (Diarthrosis)
ข้อต่อในลักษณะนี้มักจะเป็นข้อต่อแบบซินโนเวียล และมีการเคลื่อนไหวได้ทั้งในสองมิติและสามมิติ ข้อต่อในกลุ่มนี้ยังสามารถแบ่งออกได้ตามรูปร่างลักษณะของข้อต่อเป็น 6 แบบ ได้แก่
1. ข้อต่อแบบเบ้า (Ball and socket joint) จัดว่าเป็นข้อต่อที่มีความอิสระในการเคลื่อนไหวสูงที่สุด เนื่องจากสามารถเคลื่อนไหวได้ในสามมิติ อย่างไรก็ตาม ข้อต่อแบบเบ้ามีโอกาสเลื่อนหลุดได้ง่าย จึงจำเป็นต้องมีเอ็นรอบข้อต่อและกล้ามเนื้อจำนวนมากเพื่อเพิ่มความเสถียรของข้อต่อ ตัวอย่างของข้อต่อแบบเบ้า ได้แก่ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล (glenohumeral joint) ของไหล่ และข้อต่อสะโพก (hip joint)
2. ข้อต่อแบบบานพับ (Hinge joint) มีการเคลื่อนไหวในสองมิติคล้ายบานพับประตู ตัวอย่างของข้อต่อแบบบานพับ เช่น ข้อศอกและข้อเข่า
3. ข้อต่อแบบเดือยหรือแบบหมุน (Pivot joint or rotary joint) เป็นข้อต่อที่กระดูกชิ้นหนึ่งจะมีส่วนยื่นออกไปเป็นเดือย และรับกับกระดูกอีกชิ้นที่มีลักษณะคล้ายเบ้าหรือวงแหวน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบหมุนตามแนวแกนของเดือย ตัวอย่างที่เห็นชัด คือข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังชิ้นที่ 1 และชิ้นที่ 2 (Atlantoaxial joint) ซึ่งทำให้มีการหมุนของศีรษะและลำคอได้
4. ข้อต่อแบบวงรี (Ellipsoidal/Condylar joint) มีพื้นผิวของข้อต่อคล้ายกับข้อต่อแบบเบ้า แต่จะมีการจำกัดการเคลื่อนไหวในด้านใดด้านหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ข้อต่อของข้อมือ
5. ข้อต่อแบบอานม้า (Saddle joint) เป็นข้อต่อที่มีการประกบกันของส่วนเว้าของปลายกระดูกทั้งสองในแนวที่ต่างกัน ทำให้มีการจำกัดการหมุน ตัวอย่างเช่นข้อต่อฝ่ามือ (carpometacarpal joint) ของนิ้วหัวแม่มือ
6. ข้อต่อแบบเลื่อน (Gliding joint) เป็นข้อต่อที่มีเพียงการเคลื่อนไหวในแนวระนาบ เช่นข้อต่อระหว่างกระดูกข้อมือ

ภาพวาดแสดงข้อต่อสะโพก ซึ่งเป็นข้อต่อแบบเบ้าที่ชัดเจน

 



https://th.wikipedia.org/wiki/ข้อต่อ

    << Go Back