<< Go Back

ไส้เดือนดิน

ไส้เดือนดิน หรือไส้เดือน หรือรากดิน (อังกฤษ: earthworm) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในไฟลัมแอนเนลิดา ในอันดับย่อย Lumbricina มีลักษณะลำตัวเป็นข้อปล้อง พบได้ทั่วไปในดิน ใต้กองใบไม้ หรือใต้มูลสัตว์[1] เป็นสัตว์ที่มี 2 เพศในตัวเดียวกัน มีการสืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ
ปัจจุบันพบทั่วโลกประมาณ 4,400 ชนิด โดยแบ่งออกได้ตามลักษณะแหล่งที่อยู่อาศัย
1. กลุ่มอาศัยอยู่บริเวณหน้าดิน
2. กลุ่มอาศัยในดินชั้นบน ที่มีความลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร
3. กลุ่มอาศัยในดินชั้นล่าง ที่มีความลึกประมาณ 2-3 เมตร
ไส้เดือนเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศ เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอย่างมากในการย่อยอินทรียสารในดิน และการเคลื่อนที่ในดินของไส้เดือน ถือเป็นการพรวนดิน ทำให้ดินมีช่องว่างที่จะเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้แก่ดิน ซึ่งมีความสำคัญต่อการปลูกพืช อีกทั้งยังใช้ในการผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพจากไส้เดือนอีกด้วย และนอกจากนี้แล้ว ไส้เดือนยังเป็นที่นิยมอย่างยาวนาน ใช้เป็นเหยื่อสำหรับตกปลา
ปัจจุบัน มีการเพาะเลี้ยงไส้เดือนเป็นอาชีพ และมีการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับไส้เดือนให้มากและกว้างขึ้น
ไส้เดือนชนิดที่มีความยาวที่สุดในโลกตามบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ คือ ไส้เดือนยักษ์แอฟริกา จัดเป็นไส้เดือนที่อาศัยอยู่ในดินที่ลึก มีความยาวสูงสุด 6.7 เมตร

 

 

https://th.wikipedia.org/wiki/ไส้เดือนดิน

    << Go Back