<< Go Back

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง

        ปรากฏการณ์จันทรุปราคาหรืออุปราคาของดวงจันทร์ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ที่สะท้อนผิวของดวงจันทร์ มืด หรือจางลงในชั่วเวลาหนึ่ง ขณะที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปในเงาของโลก ซึ่งทำให้ผู้สังเกตบนโลกเห็นดวงจันทร์เป็นสีค่อนข้างคล้ำออกแดง หรือน้ำตาล ทั้งยังเป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์ให้ความสำคัญมาเป็นเวลาช้านานแล้ว และได้มีการศึกษาบันทึกปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้อย่างละเอียดชัดเจน นับตั้งแต่ยุคสมัยบาบิโลนเฟื่องฟู (อยู่ในแถบตะวันออกกลางปัจจุบัน) นักดาราศาสตร์โบราณของบาบิโลนได้ทำการศึกษาปรากฏการณ์จันทรุปราคา และสามารถคำนวณการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ และที่น่าแปลกใจมากกว่านั้นยังมีการค้นพบรอบการเกิดของปรากฏการณ์จันทรุปราคา ที่เรียกกันในปัจจุบันว่าชุดการเกิดจันทรุปราคา หรือ ซารอส (Saros) จากบันทึกของชาวบาบิโลนทำให้เราสามารถคำนวณปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ล่วงหน้า หรือย้อนกลับไปในอดีตได้ จนถึงบริเวณที่สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ได้อย่างแม่นยำ (ในที่นี้ผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงหลักการคำนวณการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา) 

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาและความเชื่อของประเทศไทย

        คนไทยในอดีตมีความเชื่อเกี่ยวกับดวงจันทร์ที่เกิดเป็นสีแดงคล้ำนี้แตกต่างกันไปตามความเชื่อของท้องถิ่น แต่ก็มีบางส่วนที่คลายๆ กันก็ถือว่าเป็นลางบอกเหตุที่ไม่ดีทั้งสิ้น และจะต้องช่วยกันไล่ให้พระราหู (เงาของโลก) หรือกบนั้นคายดวงจันทร์ออกมา โดยการตีปีบ เคาะไม้ หรือทำเสียงดัง บางท้องถิ่นก็เชื่อว่าในระหว่างที่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาให้เอามีดพร้าเฉาะลงบนเปลือกไม้ เพื่อให้ต้นไม้ออกลูกผลดี แต่การที่ดวงจันทร์มีสีแดงคล้ำนี้สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทั่วไป และปรากฏการณ์จันทรุปราคายังมีชื่อเรียกอื่นอีก เช่น จันทรคราส หรือ จันทรคาธ และยังถูกเรียกในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป

การเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา และปัจจัยต่างๆ 

        ปรากฏการณ์จันทรุปราคา และปรากฏการณ์สุริยุปราคานั้นมีหลักการเกิดคล้ายๆ กันก็คือ เกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์เรียงอยู่ในแนวระนาบเดียวกันพอดี โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคานั้น โลกจะอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ซึ่งปรากฏการณ์จันทรุปราคาจะเกิดในช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวง โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดขึ้นขณะที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเงาของโลก และเมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกแล้วดวงจันทร์จะค่อยๆ แหว่งไปทีละน้อยจนมืดทั้งดวง และเริ่มโผล่อีกครั้งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านพ้นออกมาจากเงาของโลก


แสดงตำแหน่งของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา

ปัจจัยในการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา

วงโคจรของดวงจันทร์รอบโลก

        วงโคจรของดวงจันทร์ขณะโคจรรอบโลกมีลักษณะเป็นวงรี ซึ่งระยะห่างระหว่างตำแหน่งของดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุด (Perigee) โดยเฉลี่ยประมาณ 362,570 กิโลเมตร (356,400 – 370,400 กิโลเมตร) และระยะห่างระหว่างตำแหน่งของดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุด (Apogee) โดยเฉลี่ยประมาณ 405,410 กิโลเมตร (404,000 – 406,700 กิโลเมตร) จากจุดทั้ง 2 มีระยะทางต่างกันประมาณ 42,840 กิโลเมตร ความแตกต่างของระยะทาง นี้เองที่ทำให้เงาของโลก ที่ทอดบนผิวของดวงจันทร์มีความแตกต่าง กันในแต่ละครั้งที่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา เช่น ในกรณีที่โลกและดวงจันทร์อยู่ใกล้กัน เงาที่เกิดขึ้นจะมีขนาดใหญ่ และมีเงามืดเป็นบริเวณกว้าง ทำให้การเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา ในแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน และมีค่าความสว่างของดวงจันทร์ขณะ เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงมีค่าแตกต่างกันไป

        นอกจากนี้หากดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากโลกมากที่สุด จะทำให้ระยะเวลาใน การเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา นานขึ้น ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

       1. ณ ตำแหน่งที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกมากที่สุด ดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ช้ากว่าตำแหน่งอื่นๆ เพราะตำแน่งนี้เป็น ตำแหน่งที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ช้าที่สุด ในวงโคจรรอบโลก (ตามกฏของเคปเลอร์)

       2. ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ที่ตำแหน่งไกลโลกมากที่สุด เราจะสังเกตมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่า ตำแหน่งขณะที่ ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลก ที่สุด ดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ผ่านเงาของโลก ไปอย่างช้า ทำให้อยู่ในเงามืดนานขึ้น


แสดงการเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์ (ก) ตำแหน่งที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุด (Apogee) และ (ข) ตำแหน่งที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุด (Perigee) (ภาพถ่ายโดย คุณศุภฤกษ์ คฤหานนท์)

http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-article/1713-total-lunar-eclipse-2557

<< Go Back