<< Go Back

ลักษณะ หินแกรนิตเป็นหินอัคนีแทรกซอน (intrusive igneous) ชนิดหนึ่งซึ่งมีแอลคาไลเฟลด์สปาร์ (alkali feldspar) และควอรตซ์ (quartz) เป็นส่วนใหญ่ มีแร่โซดิกแพลจิโอเคลส (sodicplagioclage) ซึ่งโดยทั่วไปเป็นชนิดโอลิโกเคลส (oligoclasc) และ มัสโคไวต์ (muscovite) ไบโอไทต์ (biotite) และ/หรือฮอร์นเบลนด์ hornblende) หรือไพรอกซีน (pyroxene) เป็นส่วนน้อย แร่แอลคาไล เฟลด์สปาร์จะต้องมีปริมาณมากกว่าสองในสามส่วนของแร่เฟลด์สปาร์ทั้งหมด

หินแกรนิตเป็นหินที่มีการจับตัวกันของแร่ดังกล่าวที่มีขนาดผลึกแร่ตั้งแต่ละเอียดจนถึงหยาบมาก แร่ในเนื้อหินอาจมีขนาดใกล้เคียงกันหรือแบ่งเป็นสองขนาดอย่างชัดเจน คือส่วนละเอียดที่เป็น "เนื้อพื้น" (grounfmass) และส่วนแร่ขนาดใหญ่ที่เป็น "แร่ดอก" (phenocryst) เนื้อหินโดยทั่วไปจะแน่น แข็ง ทนทานต่อแรงกระทำจากภายนอกและการกัดกร่อนได้สูง สีขาว สีขาวอมเทา โดยที่อาจจะมีสีน้ำตาล ชมพู แดง ของแร่แอลคาไล เฟลด์สปาร์ ปนอยู่ด้วย ซึ่งกฎกระทรวงฉบับที่ ๕๘ (พ.ศ.๒๕๓๘) กำหนดให้หินแกรนิต เป็นหินประดับชนิดหนึ่ง

แหล่งที่พบ หินแกรนิตที่พบในจังหวัดสงขลา กระจายอยู่หลายพื้นที่ด้วยกันดังนี้ คือ
๑. เทือกเขาด้านทิศตะวันตกที่เป็นรอยต่อกับจังหวัดสตูล
๒. เทือกเขาแกรนิตสงขลาเริ่มจากบริเวณเขาเก้าเส้งต่อลงมาทางทิศใต้ มายังเขาน้ำกระจายลงมาถึงเขาเหรงด้านทิศใต้ของอำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา
๓. บริเวณทางทิศใต้ของอำเภอนาทวี ที่อยู่ด้านขอบทิศตะวันตกของเขาน้ำค้าง
๔. พื้นที่รอยต่อของอำเภอจะนะกับอำเภอเทพา บริเวณเทือกเขาที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสะพานไม้แก่นกลาง อำเภอจะนะ และทิศตะวันตกของบ้านพรุกงเหนือ บ้านโล๊ะบอน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
๕. เทือกเขาคาราคีรี ที่อยู่ด้านทิศตะวันออกของอำเภอสะบ้าย้อย ที่เป็นรอยต่อกับจังหวัดยะลาและจังหวัดปัตตานี

ประโยชน์ หินแกรนิตที่มีคุณภาพดี คือ มีโครงสร้างเนื้อหินไม่มีการแตกหัก ไม่มีการผุพัง สามารถสกัดออกมาเป็นบล๊อกขนาดใหญ่ได้ และมีสีสวยเป็นที่ต้องการของตลาดในการก่อสร้าง นำมาตัดเป็นแผ่นและขัดให้ผิวเป็นมันเพื่อทำเป็นหินประดับ นอกจากนั้น ก็อาจนำมาบดทำเป็นหินก่อสร้างทดแทนหินปูนในพื้นที่ที่ขาดแคลนหินปูน หรืออาจใช้เป็นหินทิ้งในการสร้างเขื่อน

<< Go Back