<< Go Back

              ฝุ่นละออง หรือ ละอองธุลี คือ ของแข็งขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในอากาศหรือน้ำ ซึ่งเกิดจากธรรมชาติหรือมนุษย์ โดยนับเป็นมลพิษทางอากาศ และมลพิษทางน้ำประเภทหนึ่ง

              ฝุ่นละอองมีที่มาหลากหลายทั้งจากธรรมชาติ อาทิเช่น ภูเขาไฟ พายุทราย ไฟป่า ไอเกลือ หรือการกระทำของมนุษย์เช่น ไอของเสียจากรถยนต์โรงงานไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึง การเผาหญ้า และการเผาป่า  ในประเทศกำลังพัฒนาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นมักจะเกิดจากโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน

              ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศจำนวนมากส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ ก่อให้เกิดปัญหาหลากหลายเช่น โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคปอด รวมไปถึงมะเร็งปอด   ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยพวกตัวกรองแบบต่างๆ เช่น หน้ากาก

              การกำจัดฝุ่นละอองนั้น ฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่จะตกอยู่บนพื้นตามแรงโน้มถ่วงของโลก ขณะที่ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมโครเมตร (PM10) จะลอยอยู่ในอากาศได้หลายสัปดาห์ และจะถูกกำจัดโดยฝนหรือหยาดน้ำฟ้าประเภทอื่น

ปัญหาสุขภาพ

              ปัญหาฝุ่นละอองมีการบันทึกว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก  และผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนขึ้นสูงในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกามีการประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ  22,000-52,000 คนต่อปีเนื่องจากปัญหาฝุ่นละออง และ 200,000 คนต่อปีในทวีปยุโรป ผลที่เกิดจากการสูดดมฝุ่นละอองเข้าไปในร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ สามารถก่อให้เกิด หอบหืด มะเร็งปอด โรคหัวใจ ความผิดปกติแต่กำเนิด และการตายก่อนกำหนด

              ขนาดของอนุภาคจะส่งผลต่อสุขภาพ โดยอนุภาคที่มีขนาด 10 ไมโครเมตรหรือเล็กกว่า (PM10) สามารถเข้าไปในส่วนที่ลึกสุดของปอดได้ เช่น หลอดลมฝอย หรือ ถุงลม อนุภาคขนาดใหญ่โดยทั่วไปจะถูกกรองด้วยจมูกและลำคอ โดยขนจมูกและขี้มูก   แต่อนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมโครเมตร (PM10) สามารถผ่านเข้าไปในปอดและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/ฝุ่นละออง

<< Go Back