<< Go Back

ในปี พ.ศ. 2503 ได้มีการประชุมร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์ จากหลาย ๆ ประเทศเพื่อตกลงให้มีระบบการวัดปริมาณต่าง ๆ เป็นระบบมาตรฐาน ที่เรียกว่า หน่วยระหว่างชาติ (International System of Unit หรือ System - International d' Unit) และกำหนดให้ใช้อักษรย่อแทนชื่อระบบนี้ว่า "SI" หรือ หน่วย เอสไอ (SI Unit) เพื่อใช้ในการวัดทางวิทยาศาสตร์

หน่วยระบบ SI ประกอบด้วย 1.หน่วยฐาน (Base units) 2 หน่วยอนุพัทธ์ (Derived units) มีรายละเอียดดังนี้

1. หน่วยฐาน (Base Units)

เป็นหน่วยวัดที่หน่วยวัดอื่นๆ ทั้งหมดสามารถสอบกลับมาได้ มีอยู่ทั้งสิ้น 7 หน่วย ดังนี้
1) ความยาว (Length) หน่วยวัดความยาวในระบบหน่วยเอสไอ คือ เมตร (Metre : m) มีนิยามว่า เมตร คือ ระยะทางที่แสงเคลื่อนที่ในสุญญากาศ ในช่วงเวลา 1/299,792,458 วินาที

2) มวล (Mass) หน่วยวัดมวลในระบบหน่วยเอสไอ คือ กิโลกรัม (Kilogram : kg) มีนิยามว่า กิโลกรัม คือ หน่วยของมวล ซึ่งเท่ากับมวลของกิโลกรัมต้นแบบระหว่างประเทศ เป็นทรงกระบอกทำจากโลหะผสมระหว่างแพลทินัมกับอิริเดียม ที่เก็บไว้ที่ BIPM ณ ชุมชน Sèvres ประเทศฝรั่งเศส
3) เวลา (Time) หน่วยวัดเวลาในระบบหน่วยเอสไอ คือ วินาที (Second : s) มีนิยามว่า วินาที คือ ระยะเวลาเท่ากับ 9,192,631,770 รอบ ของการแผ่รังสีที่สมนัยกับการเปลี่ยนระดับไฮเพอร์ไฟน์สองระดับของอะตอม Caesium-133 (Cs133) ในสถานะพื้น (Ground State)
4) กระแสไฟฟ้า (Electric Current) หน่วยวัดกระแสไฟฟ้าในระบบหน่วยเอสไอ คือ แอมแปร์ (Ampère : A) มีนิยามว่า แอมแปร์ คือ ปริมาณกระแสไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดแรงขนาด 2 x 10^-7 นิวตันต่อความยาว 1 เมตร ระหว่างเส้นลวด 2 เส้นที่มีความยาวอนันต์ มีพื้นที่ภาคตัดขวางเล็กมาก จนไม่ต้องคำนึงถึง วางขนานกันด้วยระยะห่าง 1 เมตรในสุญญากาศ
5) อุณหภูมิ (Thermodynamic Temperature) หน่วยวัดอุณหภูมิในระบบหน่วยเอสไอ คือ เคลวิน (Kelvin : K) มีนิยามว่า เคลวิน คือ หน่วยของอุณหภูมิทางอุณหพลศาสตร์ ซึ่งเท่ากับ 1/273.16 ส่วนของอุณหภูมิอุณหพลวัตของจุดร่วมสามสถานะของน้ำ
6) ความเข้มของการส่องสว่าง (Luminous Intensity) หน่วยวัดความเข้มของการส่องสว่างในระบบหน่วยวัดเอสไอ คือ แคนเดลา (Candela : cd) มีนิยามว่า แคนเดลา คือ ความเข้มของการส่องสว่างในทิศทางหนึ่ง ที่กำหนดให้ของแหล่งกำเนิดแสงเอกรงค์ ซึ่งแผ่รังสีเดียวที่ความถี่ 540 x 10^12 เฮิรตซ์ ด้วยความเข้มของการแผ่รังสีขนาด 1/683 วัตต์ต่อสตีเรเดียนในทิศทางเดียวกันนั้น
7) ปริมาณของสาร (Amount of Substance) หน่วยวัดปริมาณสารในระบบหน่วยวัด เอสไอ คือ โมล (Mole : mol) มีนิยามว่า โมล คือ หน่วยของปริมาณสารของระบบ ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบมูลฐาน ซึ่งมีจำนวนเท่ากับจำนวนอะตอมของ C12 มวล 0.012 กิโลกรัม

2 หน่วยอนุพัทธ์ (Derived units)

คือหน่วยที่เกิดจากการรวมกันของหน่วยฐานเอสไอโดยการคูณหรือหาร เพื่อใช้ในเรื่องการวัดและการแสดงปริมาณต่างๆ ซึ่งหน่วยอนุพัทธ์สามารถมีได้มากมายไม่จำกัด เนื่องการปริมาณต่างๆในโลกนี้ที่คนเราอยากรู้ก็ไม่สามารถจำกัดได้ เพียงแต่เลือกหน่วยพื้นฐานมาประกอบเข้าด้วยกันให้ถูกต้อง

คำอุปสรรค (Prefixes )
เมื่อคำในหน่วยฐานหรือหน่วยอนุพัทธ์น้อยหรือมากเกินไป เราอาจเขียนคำนั้นให้อยู่ในรูป ตัวเลข คูณด้วย ตัวพหุคูณ ( ตัวพหุคูณ คือ เลขสิบยกกำลังบวกหรือลบ) ได้

เช่น ระยะทาง 0.002 m เขียนเป็น 2 x10- 3m หรือ 2 มิลลิเมตร : 2 mm เป็นต้น

 

 

https://sites.google.com/site/physicm41/home/rabb-hnwy-si

<< Go Back