<< Go Back

วัฏจักรชีวิต หมายถึง ระยะการเจริญเติบโตและพัฒนาทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆ เริ่มตั้งแต่ระยะการสร้างไซโกต (zygote) จนถึงการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ (gamete) ดังตัวอย่างวัฏจักรชีวิตพืชดอกทั่วๆ ไปในแผนภาพข้างล่าง

วัฏจักรชีวิตโดยทั่วไปของพืชดอก ประกอบด้วยลักษณะต่างๆ ดังนี้
1. มีวัฏจักรชีวิตแบบสลับ (alternation of two generations) คือมีสองชั่วรุ่นสลับกัน ระหว่างชั่วรุ่นสปอโรไฟต์ (sporophyte) ที่มีจำนวนโครโมโซมสองชุด (2n) และชั่วรุ่นแกมีโทไฟต์ (gametophyte) ที่มีจำนวนโครโมโซมชุดเดียว (1n)
2. มีต้นพืชที่ไม่เหมือนกันสองแบบ คือ
2.1 สปอโรไฟต์ เป็นต้นพืชที่อยู่อย่างอิสระที่เราพบเห็นทั่วๆไป เช่นต้นถั่วลิสง ต้นข้าวโพด และต้นมะเขือเทศ สปอโรไฟต์สร้างสปอร์ (spore) สำหรับสืบพันธุ์
2.2 แกมีโทไฟต์ ไม่ใช่ต้นพืชที่อยู่อย่างอิสระ แต่เป็นพืชเบียนหรือกาฝากที่อาศัยอยู่ ภายในสปอโรไฟต์ นั่นคือ แกมีโทไฟต์เพศผู้หรือเรณูที่กำลังงอก และแกมีโทไฟต์เพศเมียหรือถุงเอ็มบริโอ แกมีโทไฟต์ทั้งสองชนิดนี้สร้าง เซลล์สืบพันธุ์ (gamete) ที่มีหน้าที่สืบพันธุ์เช่นกัน จะเห็นได้ว่าแกมีโทไฟต์เป็นส่วนที่อยู่ในดอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกสรเพศผู้และเพศเมีย แกมีโทไฟต์จึงมีขนาดเล็กมาก นี่คือความจริงในอาณาจักรพืชที่ว่าแกมีโทไฟต์ของพืชดอกมีขนาดเล็กลงมาก เล็กกว่าของพืชมีสปอร์ต่างแบบ (heterosporous plant) ชนิดอื่นๆ รวมทั้งของพืชเมล็ดเปลือยด้วย ส่วนแกมีโทไฟต์นี้เป็นส่วนที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยในชีวิตประจำวันของเรา
3. ในวัฏจักรชีวิตของพืชดอกส่วนใหญ่ ชั่วรุ่นที่มีจำนวนโครโมโซมสองชุดจะเด่นกว่าชั่วรุ่นที่มีจำนวนโครโมโซมชุดเดียว ดังที่เราเห็นต้นข้าวหรือต้นผักกาดอย่างชัดเจน เราเรียกวัฎจักรชีวิตเช่นนี้ว่า diplontic ซึ่งตรงข้ามกับพวกสาหร่าย (algae) ที่มีชั่วรุ่นที่มีจำนวนโครโมโซมหนึ่งชุด (สาหร่ายที่เรามองเห็น) เด่นกว่า วัฎจักรชีวิตเช่นนี้เรียกว่า haplontic

ที่มา : https://sivakon5651.wordpress.com/วัฏจักรชีวิตของพืช/

<< Go Back