<< Go Back

ถ้าเรานำเศษเหล็กชิ้นเล็ก ๆ ไปวางใกล้กับแม่เหล็ก เศษเหล็กอันนั้นจะถูกแนวแรงของแม่เหล็กดูดเข้าไปเกาะติด คล้ายกับว่าเป็นอำนาจลึกลับอย่างหนึ่ง ซึ่งหากไม่ศึกษาให้ละเอียดแล้วจะไม่ทราบ และอธิบายให้เข้าใจว่าอำนาจเร้นลับนั้นเกิดมาจากอะไรทั้ง ๆ ที่มนุษย์เคยใช้อำนาจเร้นลับนี้ให้เป็นประโยชน์ ในการทำเข็มทิศมาแล้วแต่โบราณ ครั้นในปัจจุบันนี้เราทราบกันแล้วว่าอำนาจเร้นลับของแม่เหล็กนั้น เกิดมาจากแรงดึงดูดของอนุภาคปรมาณูที่เป็นส่วนประกอบย่อยที่สุดของแม่เหล็กนั่นเอง กล่าวคือปรมาณูที่มี อำนาจดูดและผลักซึ่งกันและกัน ถ้าในเหกล็กแท่งใดอนุภาคปรมาณูหันขั้วที่เหมือนกัน ของมันไปในทางเดียวกัน อำนาจดึงดูดของมันจะไปรวมกันในทิศทางนั้น ทำให้ขั้วของ เหล็กทั้งสองข้างมีอำนาจดึงดูดมากขึ้นจนสามารถส่งแรงดูดเศษเหล็กให้เกาะติดได้

แม่เหล็กมีส่วนสำคัญในการทำส่วนประกอบของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น ในโทรศัพท์ วิทยุ วิทยุโทรภาพ และในเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นต้น ปั้นจั่นที่ใช้ในการยกโลหะหนัก ๆ ก็ใช้กำลังยกโดยอำนาจของแม่เหล็กเช่นกัน

โลกเราก็เป็นแม่เหล็กแท่งหนึ่ง เพราะมันมีอำนาจดึงดูดให้วัตถุต่าง ๆ ลงสู่จุดศูนย์ไส้ของมันได้ อำนาจการดึงดูดของโลกนี้ เรียกว่า แกรวิเตชั่น (Gravitation) หรือแรงแห่งความถ่วงของโลก แรงแห่งความถ่วงของโลกนั้นแตกต่างกับแนวแรงแม่เหล็กธรรมดา เพราะแม่เหล็กธรรมดาจะดูดแต่สารจำพวกเหล็กเท่านั้น แต่แรงแห่งความถ่วงของโลกดูดทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในแนวแรงของมันด้วยอำนาจดึงดูดอันน่ามหัศจรรย์นี่เองที่ช่วยทำให้เอกภพ ต่าง ๆ ทรงตัวอยู่ได้ ช่วยทำให้สุริยจักรวาลคงรูปอยู่ได้ โดยมีดวงดาวต่าง ๆ โคจรหมุนเวียน รอบดวงอาทิตย์ตามระยะเวลาและอัตราเร็วคงตัวอยู่ได้นานนับเป็นล้าน ๆ ปี สำหรับโลกนั้น เพราะอำนาจอันเร้นลับนี่เองที่ช่วยคุ้มกันมิให้สรรพสิ่งต่าง ๆ หลุดลอยออกไปภายนอกโลก ช่วยทำให้ทุกสิ่งต้องตรึงตัวติดอยู่กับผิวโลกโดยมีจุดศูนย์ถ่วงตั้งได้ฉากกับผิวโลกอยู่เสมอ

เซอร์ไอแซคนิวตันได้ค้นพบและอธิบายให้ทราบถึงอำนาจแห่งเร้นลับของแรงแห่งความถ่วงของโลกได้เมื่อ ค.ศ. 1687 เขาให้หลักเกณฑ์ไว้ว่าเทห์ต่าง ๆ ย่อมมีแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน ถ้ามีขนาดใหญ่มากก็มีแรงดึงดูดมาก ถ้ามีความหนาแน่นมากก็มีแรงดึงดูดมากด้วยเหตุนี้เองโลกซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดกว่าบรรดาเทห์ทุกชนิด ที่อยู่ ในโลกนี้จึงสามารถดูดทุกสิ่งอยู่ได้ แม้กระทั่งดวงจันทร์

<< Go Back