<< Go Back


1.ดูด (Absorption)น้ำและแร่ธาตุที่ละลายน้ำจากดินเข้าไปในลำต้น
2. ลำเลียง (Conduction)น้ำและแร่ธาตุรวมทั้งอาหารซึ่งพืชสะสมไว้ในรากขึ้น สู่ส่วนต่าง ๆ ของลำต้น
3.ยึด (Anchorage)ลำต้นให้ติดกับพื้นดิน
4. แหล่งสร้างฮอร์โมน (Producing hormones) รากเป็นแหล่งสำคัญในการผลิต ฮอร์โมนพืชหลายชนิด เช่น ไซโทไคนิน จิบเบอเรลลิน ซึ่งจะถูกลำเลียงไปใช้ เพื่อการเจริญพัฒนาส่วนของลำต้น ส่วนยอด และส่วนอื่น ๆ ของพืช นอกจากนี้ ยังมีรากของพืชอีกหลายชนิดที่ทำหน้าที่พิเศษ

รากแก้ว (Primary root หรือ Tap root) เป็นรากที่เจริญมาจาก แรดิเคิล(Radicle) ของเอ็มบริโอ แล้วพุ่งลงสู่ดิน ตอนโคนรากจะใหญ่แล้วค่อย ๆ เรียวไปจนถึงปลายราก พืชหลายชนิดมีรากแก้วเป็นรากสำคัญตลอดชีวิต

รากแขนง (Secondary root หรือ Lateral root) เป็นรากที่เจริญมาจากเพริไซเคิล ของรากแก้ว การเจริญเติบโตของรากชนิดนี้จะขนานไปกับพื้นดินและสามารถแตกแขนงได้เรื่อยไป
รากฝอย (Fibrous root) เป็นรากที่งอกออกจากโคนลำต้น เพื่อแทนรากแก้วที่ฝ่อไป พบมากในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเช่นรากข้าว ข้าวโพด หญ้า หมาก มะพร้าว เป็นต้น

รากค้ำจุน (Prop root หรือ Buttress root) เป็นรากที่งอกจากโคนต้นหรือกิ่งบนดินแล้วหยั่งลงดินเพื่อพยุงลำต้น เช่น รากข้าวโพดที่งอกออกจากโคนต้น รากเตย ลำเจียกไทรย้อย แสม โกงกาง ดังภาพที่ 2-11 เป็นภาพถ่ายจากพิพิธภัณฑ์นิเวศป่าชายเลน โรงเรียนบางปะกง "บวรวิทยายน" อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

รากเกาะ (Climbing root) เป็นรากที่แตกออกจากข้อของลำต้นมาเกาะตามหลัก เพื่อชูลำต้นขึ้นสูง เช่น รากพลู พริกไทย กล้วยไม้ พลูด่าง เป็นต้น

รากหายใจ (Pneumatophore หรือ Aerating root) เป็นรากที่ยื่นขึ้นมาจากดินหรือน้ำเพื่อรับออกซิเจน เช่น รากลำพู แสม โกงกาง และรากส่วนที่อยู่ในนวมคล้ายฟองน้ำของผักกระเฉดก็เป็นรากหายใจโดยนวมจะเป็นที่เก็บอากาศและ เป็นทุ่นลอยน้ำด้วย ภาพที่ 2-13 ภาพถ่ายจากริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

รากปรสิต (Parasitic root) เป็นรากของพืชพวกปรสิตที่สร้าง Haustoria แทงเข้าไปในลำต้นของพืชที่เป็นโฮสต์ เพื่อแย่งน้ำและอาหารจากโฮสต์ เช่น รากกาฝาก ฝอยทอง เป็นต้น

รากสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthetic root) เป็นรากที่แตกจากข้อของลำต้นหรือกิ่ง และอยู่ในอากาศจะมีสีเขียวของคลอโรฟิลล์จึงช่วยสังเคราะห์ด้วยแสงได้ เช่น รากกล้วยไม้ นอกจากนี้รากกล้วยไม้ยังมีนวม (Velamen) หุ้มตามขอบนอกของรากไว้เพื่อดูดความชื้นและเก็บน้ำ

รากสะสมอาหาร (Food storage root) เป็นรากที่สะสมอาหารพวกแป้งโปรตีน หรือน้ำตาลไว้ จนรากเปลี่ยนแปลงรูปร่างมีขนาดใหญ่ซึ่งมักจะเรียกกันว่า "หัว" เช่น หัวแครอท หัวผักกาด หรือหัวไชเท้า หัวผักกาดแดงหรือแรดิช (Radish) หัวบีท (Beet root) และหัวมันแกว เป็นรากสะสมอาหารที่เปลี่ยนแปลงมาจากรากแก้ว ส่วนรากสะสมอาหารของมันเทศ รักเร่ กระชาย เปลี่ยนแปลงมาจากรากแขนง

รากหนาม (Thorn Root) เป็นรากที่มีลักษณะเป็นหนามงอกมาจากบริเวณโคนต้น ตอนงอกใหม่ ๆ เป็นรากปกติแต่ต่อมาเกิดเปลือกแข็งทำให้มีลักษณะ คล้ายหนามแข็ง ช่วยป้องกันโคนต้นได้ ปกติพบในพืชที่เจริญในที่น้ำท่วมถึง เช่น โกงกาง ส่วนในปาล์มบางชนิดจะปรากฏรากหนามกรณีที่มีรากลอยหรือรากค้ำจุน

            http://www.rajsima.ac.th/downloads/media/krukiattisak30245/sub/set_1/set1_5.html

<< Go Back