<< Go Back
แห้วหมู ชื่อสามัญ Nut grass, Coco grass แห้วหมู ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyperus rotundus L. จัดอยู่ในวงศ์กก (CYPERACEAE)
สมุนไพรแห้วหมู
 มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าแห้วหมูหรือหญ้าขนหมู (แม่ฮ่องสอน), ซาเช่า (แต้จิ๋ว), ซัวฉ่าว (จีนกลาง) เป็นต้น

ต้นหญ้าแห้วหมู มักถูกมองเป็นวัชพืชที่ไร้ค่า หากขึ้นบ้านไหนก็เป็นได้ตัดถอนทิ้ง แถมมักแย่งสารอาหารในดินทำให้ผลผลิตของพืชเศรษฐกิจที่เพาะปลูกลดลง และยังเป็นวัชพืชที่กำจัดยากมาก เนื่องจากมีหัวอยู่ใต้ดินและทนทานต่อสารกำจัดวัชพืช แต่คุณรู้หรือไม่ว่าในตำรายาแผนโบราณของไทยและต่างประเทศนั้นมีการใช้แห้วหมูเป็นยาสมุนไพรมานานมากแล้ว แถมยังเป็นยาดีที่มีราคาถูกอีกด้วย แห้วหมู มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ แห้วหมูใหญ่และแห้วหมูเล็ก ซึ่งมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันในเรื่องของความสูงของลำต้น ลักษณะของดอก โดยสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ทั้ง 2 ชนิด เพราะมีสรรพคุณที่ใกล้เคียงกันมาก โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้ปรุงเป็นยาก็ได้แก่ ส่วนของหัว ต้น ราก และใบแห้วหมู

ลักษณะของแห้วหมู
ต้นแห้วหมู หรือ ต้นหญ้าแห้วหมู จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก จัดอยู่ในจำพวกหญ้า มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ลักษณะเป็นหัวกลม สั้น มีตาจำนวนมาก มีสีดำ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ลำต้นเป็นดิน มีขนาดเล็กเรียวเป็นเหลี่ยม มีความสูงประมาณ 4-10 นิ้ว มีสีเขียวแก่ เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือการใช้หัวหรือไหลใต้ดิน เป็นพรรณไม้ที่มักเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ตามทุ่งนา ข้างทางหรือที่รกร้าง กระจายพันธุ์สูงในเขตร้อน


  • ใบแห้วหมู ใบเกิดที่ลำต้น ชิดแน่นโดยเป็นกาบใบหุ้มซ้อนม้วนทับกัน ชูขึ้นเหมือนลำต้นแต่แผ่เป็นใบ ใบมีขนาดเล็ก มีลักษณะแบนเรียวยาว ปลายแหลม กลางใบเป็นสันร่อง ผิวใบเกลี้ยงมีสีเขียวเข้ม ใบกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 25 เซนติเมตร

  • ดอกแห้วหมู ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอด ก้านช่อดอกเป็นรูปสามเหลี่ยมสีเขียวเข้มแทงขึ้นสูง มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วแตกเป็นช่อย่อยอีกหลายช่อ ดอกมีขนาดเล็ด หนึ่งช่อดอกมีใบประดับประมาณ 2-4 ใบ กางออกอยู่ฐานช่อดอก ดอกย่อยไม่มีก้าน ดอกมีสีน้ำตาล

  • ผลแห้วหมู ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม หน้าตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม ผลมีสีน้ำตาลหรือสีดำ


https://medthai.com/แห้วหมู/

<< Go Back