<< Go Back

เป็นแหล่งพลังงานที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีของการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ มีทั้งในรูปของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ได้แก่ ถ่านหิน หินน้ำมัน ทรายน้ำมัน น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน ได้แก่ ถ่านหิน เพื่อผลิตไฟฟ้าและผลิตพลังงานความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรม น้ำมันดิบ ใช้ผลิตน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อใช้ในการคมนาคมขนส่งและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนผลิตเป็นก๊าซเหลวเพื่อใช้ในการหุงต้ม ก๊าซธรรมชาติ ส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมกับการผลิตก๊าซเหลวเพื่อใช้ในการหุงต้ม ส่วนหินน้ำมันและทรายน้ำมัน ยังอยู่ในขั้นการทดลองและพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในอนาคต เมื่อมีราคาแข่งขันได้กับเชื้อเพลิงดังกล่าวข้างต้น

ซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันอยู่ใต้ดินเป็นเวลานานนับล้านปี จะเปลี่ยนรูปเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า ฟอสซิล เราจึงเรียกเชื้อเพลิงประเภทนี้ว่า เชื้อเพลิงฟอสซิล

ในทางวิทยาศาสตร์ เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าพืชและสัตว์(รวมทั้งคนด้วย) ประกอบด้วยเซลล์เล็กๆมากมาย เซลล์เหล่านี้ประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจน(H) และธาตุคาร์บอน(C) เป็นหลัก เมื่อซากพืชซากสัตว์ทับถมกันนานๆ ธาตุทั้งสองจะรวมตัวกันเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน(CxHy)

เมื่อเราเอาเจ้าไฮโดรคาร์บอนมาเผา มันก็จะให้พลังงานออกมา เหมือนกับที่เราเผาไม้เผาฟืนนั่นแหละ เพียงแต่ไฮโดรคาร์บอน หรือน้ำมันมันให้ความร้อนมากกว่า นอกจากนี้ในน้ำมันยังมีธาตุอื่นๆปนอยู่บ้าง เช่น กำมะถัน(S) ซึ่งถ้าเราเอามาเผา มันจะรวมตัวกับอ๊อกซิเจนเป็นซัลเฟอร์ออกไซด์(SOx) หรือก๊าซพิษนั่นเอง

ต่อไปเรามาทำความรู้จักกับลูกๆของพลังงานเคมีกัน

น้ำมันดิบ ลูกคนแรกเป็นของเหลวตัวสีดำ อาศัยอยู่ใต้ดิน เผาแล้วได้พลังงานสูง แต่ถ้าหัวไม่ดี มีกำมะถันเยอะ เผาแล้วจะปล่อยก๊าซพิษเยอะ เรียกว่าน้ำมันดิบเกรดต่ำ ส่วนพวกหัวดี มีกำมะถันน้อย เกรดจะดี ค่าตัวจะแพง

ถ่านหิน เป็นหินตะกอนชนิดหนึ่ง สามารถติดไฟได้ ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ในโรงงานปูนซิเมนต์ โรงงานกระดาษ รวมถึงโรงไฟฟ้า(พลังงานถ่านหิน) เพราะว่าหาได้ง่ายและราคาไม่แพง เราจะเอาถ่านหินมาเผา เพื่อเอาความร้อนไปต้มน้ำให้เดือดกลายเป็นไอ แล้วไอน้ำก็จะไปหมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีกที

ก๊าซธรรมชาติ ลูกคนสุดท้อง มีลักษณะเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนเหมือนกับน้ำมันดิบ แต่อยู่ในสถานะของก๊าซ ประกอบไปด้วย ก๊าซไนโตรเจน(N2) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์(H2S) หรือที่รู้จักกันในนาม ก๊าซไข่เน่า

ผลเสียของการใช้พลังงานเคมี

เมื่อเราเผาพลังงานฟอสซิล แน่นอน ย่อมต้องเกิดก๊าซต่างๆจากการเผาไหม้ขึ้น ซึ่งก๊าซเหล่านี้มันส่งผลกระทบต่อโลกและชาวโลกด้วย เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) เป็นตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนตัวหนึ่ง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SO2) และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน(NxOy) ทำให้เกิดฝนกรด ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) และก๊าซไฮโดรคาร์บอน(อันนี้ไม่รู้สัญลักษณ์ทางเคมีครับ) ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เป็นต้น

และเนื่องจากพลังงานเคมีเป็นพลังงานสิ้นเปลือง ยิ่งใช้ก็ยิ่งหมด ยิ่งขาดแคลน ประกอบกับมีความต้องการใช้มากขึ้นทุกขณะ ทำให้ปริมาณพลังงานสำรองที่มีอยู่ลดลงเรื่อยๆ

 

http://inhumba.com/2008/01/54/what-is-energy-3/

<< Go Back