<< Go Back

ชีพจรเกิดขึ้นได้อย่างไร
         ชีพจรเกิดจากการบีบตัวของหัวใจเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ทำให้เกิดแรงดันมากระทบผนังของเส้นเลือด เป็นผลให้เส้นเลือดมีการหดและขยายตัวตามจังหวะการบีบตัวของหัวใจ ซึ่งเราสามารถคลำได้ตรงตำแหน่งที่เส้นเลือดแดงวิ่งผ่านหรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ชีพจรคือจังหวะการเต้นของหัวใจ
ชีพจรอยู่ตรงไหน
         ชีพจรที่คลำได้ตามร่างกายนั้น จะพบว่ามักจะอยู่ตรงตำแหน่งที่เป็นส่วนข้อต่อของกระดูก เช่น ข้อมือ ข้อพับแขน ขาหนีบ ขมับ และคอ ในผู้ใหญ่นิยมจับชีพจรที่ข้อมือทางด้านหัวแม่มือ หรือที่แขนเพราะคลำได้ง่ายและสะดวก ในเด็กเล็กๆ ที่ข้อมือบางครั้งอาจจะคลำลำบากมาก ดังนั้นจึงนิยมคลำที่ขาหนีบเพราะที่ตำแหน่งขาหนีบจะเป็นตำแหน่งที่คลำได้ชัดทั้งผู้ใหญ่และเด็ก
วิธีจับชีพจร
ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
         1. ให้ผู้ป่วยนั่ง หรือนอนพักหายเหนื่อยก่อนประมาณ 5-10 นาที
         2. ในท่านั่งให้ผู้ป่วยนั่งให้สบายที่สุดเหยียดแขนหรือข้อมือให้ตรง ที่แขนควรมีที่รองรับเพื่อให้รู้สึกสบายแขนไม่เกร็ง แต่ถ้าจับในท่าที่คนไข้นอนให้ผู้ป่วยนอนหงายแขนราบกับพื้นหงายฝ่ามือขึ้น
         3. วางนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง บนตำแหน่งที่เส้นเลือดแดงผ่าน (ดังรูป) เช่น ที่ข้อมือด้านหัวแม่มือหรือข้อแขน เป็นต้น แล้วกดปลายนิ้วทั้งลงเบาๆ จับเวลา นับจำนวนครั้งในการเต้นของชีพจรนาน 1 นาที ในรายที่เต้นสม่ำเสมออาจจับเวลาเพียงครึ่งนาทีแล้วคูณสอง
ข้อควรระวัง
         1. ระวังอย่าใช้นิ้วหัวแม่มือจับชีพจรคนไข้ เพราะจะจับได้ชีพจรของผู้จับเอง เนื่องจากนิ้วหัวแม่มือมีเส้นเลือดใหญ่มาเลี้ยงนั่นเอง
         2. ไม่จับชีพจรในขณะที่คนไข้ตื่นเต้นหรือตกใจกลัว หรือภายหลังออกกำลังกายมาใหม่ๆ เพราะขณะนั้นชีพจรจะเต้นเร็วกว่าปกติ ควรรอให้ร่างกายอยู่ในสภาพปกติก่อน
         3. ควรใช้นาฬิกาที่มีเข็มวินาทีจับชีพจร เพราะสะดวกในการจับ
ชีพจรเต้นอย่างไร
ในคนปกติ ชีพจรจะเต้นแรงเป็นจังหวะสม่ำเสมอ
         - ผู้ใหญ่ เต้นประมาณนาทีละ 60-80 ครั้ง
         - เด็กเต้น ประมาณนาทีละ 90-100 ครั้ง
         - ทารกแรกเกิด เต้นประมาณนาทีละ 120-130 ครั้ง จะเห็นว่าทารกแรกเกิดชีพจรเต้นเร็วมาก เมื่อยิ่งโตขึ้นอายุมากขึ้นชีพจรจะเต้นช้าลง แต่จะแรงเป็นจังหวะสม่ำเสมอ


    https://www.doctor.or.th/article/detail/5158

<< Go Back