<< Go Back

สารชนิดเดียวกันละลายในตัวทำละลายต่างชนิดได้แตกต่างกัน คือ
1) สารบางชนิดอาจไม่ละลายน้ำ แต่ละลายในตัวทำละลายชนิดอื่น เช่น ลูกเหม็น เชลแล็ก ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายในแอลกอฮอล์
2) สารบางชนิดอาจละลายได้ในตัวทำละลายหลายชนิด เช่น สีผสมอาหารละลายในน้ำ และละลายในแอลกอฮอล์
เมื่อใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย สามารถแบ่งสารออกเป็น 2 ประเภท คือ สารที่ละลายน้ำ และสารที่ไม่ละลายน้ำ จะเห็นว่าสารต่างชนิดกันละลายน้ำได้ต่างกัน
ถ้าตัวละลายเป็นของแข็งละลายในตัวทำละลายที่เป็นของเหลว ตัวละลายจะแพร่ในตัวทำละลาย เมื่อตัวละลายละลายหมด จะมองเห็นสารละลายเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีตะกอน เนื่องจากตัวละลายที่เป็นของแข็งแทรกอยู่ในตัวทำละลาย เช่น การละลายของน้ำตาลในน้ำ การละลายของเกลือในน้ำ เป็นต้น ในกรณีที่ตัวละลายไม่ละลายในตัวทำละลาย แสดงว่าตัวละลายไม่สามารถแทรกตัวในตัวทำละลายชนิดนั้นได้ จึงมองเห็นไม่เป็นเนื้อเดียวกัน


ภาพจำลองแสดงการละลายของเกลือ

ความรู้เกี่ยวกับการละลายของสารในตัวทำละลายต่าง ๆ นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้หลายประการ เช่น สามารถใช้ตัวทำละลายสลายคราบต่าง ๆ ที่ติดอยู่บนเสื้อผ้าได้ เช่น ใช้แอลกอฮอล์ (เอทานอล) ลบรอยหญ้าหรือรอยหมึกจาง ๆ , น้ำเกลือลบรอยเลือด , น้ำนมลบรอยหมึก หรือ การนำเชลแล็กไปละลายในแอลกอฮอล์ก่อนแล้วจึงนำสารละลายเชลแล็กไปทาไม้หรือเฟอร์นิเจอร์ เพื่อให้เกิดความสวยงามและรักษาเนื้อไม้ เป็นต้น

สารละลายมีหลายประเภท หากใช้เกณฑ์ในการจำแนก จะแบ่งสารละลายออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. จำแนกตามสถานะของสารละลาย แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1.1 ของแข็ง เช่น เหรียญบาท ทองเหลือง นาก
1.2 ของเหลว เช่น สารละลายคอปเปอร์ (II) ซัลเฟต น้ำเชื่อม น้ำเกลือ
1.3 แก๊ส เช่น แก๊สหุงต้ม อากาศ
2. จำแนกตามปริมาณของตัวละลาย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 สารละลายอิ่มตัว (Saturated solution) คือ สารละลายที่ตัวละลายไม่สามารถละลายในตัวทำละลายได้เพิ่มขึ้นอีกเมื่อตัวทำละลายและอุณหภูมิคงที่ ซึ่งอาจเป็นสารละลายอิ่มตัวพอดี หรือสารละลายอิ่มตัวเหลือเฟือ ถ้าเพิ่มความร้อนให้สารละลายอิ่มตัวเหลือเฟือละลายได้อีก จะได้สารละลายอิ่มตัวยิ่งยวด
2.2 สารละลายไม่อิ่มตัว (Unsaturated solution) คือ สารละลายที่ตัวละลายยังสามารถละลายในตัวทำละลายได้อีก
3. จำแนกตามความเข้มข้น แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
3.1 สารละลายเข้มข้น คือ สารละลายที่ประกอบด้วยตัวละลายปริมาณมาก มีตัวทำละลายปริมาณน้อย
3.2 สารละลายเจือจาง คือ สารละลายที่ประกอบด้วยตัวละลายปริมาณน้อย มีตัวทำละลายปริมาณมาก

ตัวทำละลายที่เป็นสารบริสุทธิ์เมื่อเติม ตัวถูกละลายลงไปกลายเป็นสารละลายจะทำให้สมบัติของตัวทำละลายเปลี่ยนไป เช่น ความดันไอ จุดเดือด จุดหลอมเหลว สมบัติดังกล่าวของสารละลาย เรียกว่า สมบัติคอลลิเกทีฟ (colligative properties) ซึ่งได้แก่
1. การเพิ่มขึ้นของจุดเดือด (boiling point elevation)
2. การลดลงของจุดเยือกแข็ง (freezing point depression)
3. การลดลงของความดันไอ (vapor pressure lowering)
4. การเกิดแรงดันออสโมซิส (osmosis pressure)

http://www.scimath.org/lesson-chemistry/item/7077-solution

<< Go Back