<< Go Back

คลอโรพลาสต์ ( Chloroplast )
          คลอโรพลาสต์ในพืชแต่ละชนิดมีรูปร่าง จำนวนและขนาดแตกต่างกันออกไป ในเซลล์พืชชั้นสูงจะมี คลอโรพลาสต์ขนาดใหญ่ มีรูปร่างแบบไข่ รูปจานหรือทรงกระบอก ภายในมีอาหารสะสมประเภทแป้งอยู่ด้วย คลอโรพลาสต์ที่เจริญในที่ร่มจะมีขนาดใหญ่กว่าและภายในมีคลอโรฟิลล์มากกว่าที่เจริญในที่สว่าง จำนวนของคลอโรพลาสต์ไม่แน่นอนในแต่ละเซลล์ คลอโรพลาสต์จะแพร่กระจายสม่ำเสมอทั่วเซลล์ โดยขึ้นอยู่กับปริมาณของแสงสว่างที่พืชได้รับและกระบวนการไซโคลซิส
องค์ประกอบทางเคมี
          ประกอบด้วยโปรตีนและไขมันจำนวนมากโดยรวมกันเป็นลิโพโปรตีน ( lipoprotein ) นอกจากนี้ยังพบคาร์โบไฮเดรต กรดนิวคลีอิก แร่ธาตุต่างๆ โดยแร่ธาตุที่สำคัญได้แก่ เหล็ก ทองแดง แมงกานีส แมกนีเซียม โพแทสเซียม ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส
ดีเอ็นเอของคลอโรพลาสต์
            มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 24 อังสตรอม มีโครงสร้างแบบสองสายพันกันเป็นเกลียว ถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน ดีเอ็นเอนี้สามารถจำลองตัวเองและสร้างอาร์เอ็นเอ ( RNA ) ได้เพราะมีเอนไซม์ดีเอ็นเอโพลีเมอรเรส ( DNA polymerase ) และอาร์เอ็นเอโพลีเมอเรส ( RNA polymerase ) อยู่ด้วย
ไรโบโซมของคลอโรพลาสต์
            มีขนาด 70S เช่นเดียวกับในไมโทคอนเดรียและเซลล์พวกโพรแคริโอตมีหน่วยย่อยใหญ่ขนาด 50S ประกอบด้วย 23S อาร์เอ็นเอและ 5S อาร์เอ็นเอ หน่วยย่อยเล็กมีขนาด 30S ประกอบด้วย 16S อาร์เอ็นเอ ไรโบโซมประกอบด้วยอาร์เอ็นเอประมาณ 44 เปอร์เซ็นต์และโปรตีน 56 เปอร์เซ็นต์ โดยที่โปรตีนจะแตกต่างจากโปรตีนของไรโบโซมในไมโทคอนเดรียและไซโทพลาซึม อาร์เอ็นเอของไรโบโซมสามารถเกิดไฮบริไดเซชันกับดีเอ็นเอทั้งในคลอโรพลาสต์และนิวเคลียสส่วนอาร์เอ็นเอจากไรโบโซมในไซโทพลาซึม  จะเกิดไฮบริไดเซชันเฉพาะดีเอ็นเอของนิวเคลียสเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าดีเอ็นเอของคลอโรพลาสต์จะควบคุมการสังเคราะห์อาร์เอ็นเอของไรโบโซม  และอาร์เอ็นเอจากคลอโรพลาสต์บางชนิดอาจมีลำดับเบสที่สามารถเข้าคู่กันได้กับลำดับเบสที่จำเพาะกันของดีเอ็นเอในนิวเคลียส นอกจากนี้ยังพบทีอาร์เอ็นเอ ( tRNA ) และเอ็มอาร์เอ็นเอ ( mRNA ) ซึ่งได้มาจากการสังเคราะห์ของดีเอ็นเออีกด้วย
โครงสร้างของคลอโรพลาสต์
            ประกอบด้วยเยื่อหุ้ม 2 ชั้น แต่ละชั้นหนาประมาณ 8-10 นาโนเมตร และห่างกันประมาณ 10-20 นาโนเมตร เยื่อหุ้มชั้นนอกมีผิวเรียบ ภายในประกอบด้วยโครงสร้างที่สำคัญ 2 ชนิดคือ
            1. กรานา ( grana ) เกิดจากกลุ่มของลาเมลลา ( lamella ) หรือ ไทลาคอยด์ ( thylakoid ) หลายๆอันมาวางเรียงซ้อนกัน ทำให้มีลักษณะหนาทึบกว่าส่วนอื่น ในแต่ละคลอโรพลาสต์มีได้หลายกรานาซึ่งจะเชื่อมต่อกันด้วยเยื่อหุ้มที่เรียกว่า อินเทอร์กรานา ( intergrana )ทั้งกรานาและอินเทอร์กรานาประกอบด้วยคลอโรฟิลล์และรงควัตถุอื่นๆ เช่น ไฟโคบิลิน แซนโทฟิลล์ เป็นต้น ตลอดจนเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงแบบใช้แสงสว่าง (photochemical reaction) กรานา มีขนาดกว้างประมาณ 150 นาโนเมตร ในแต่ละคลอโรพลาสต์จะมีประมาณ 40-60 กรานา และในแต่ละ กรานาจะประกอบด้วยไทลาคอยด์ 10-100 อันไทลาคอยด์มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 0. 3 -2 ไมครอนและช่องระหว่างชั้นของไทลาคอยด์จะห่างกัน ประมาณ 2 นาโนเมตร สำหรับโครงสร้างของไทลาคอยด์ประกอบด้วยเยื่อหุ้ม 2 ชั้น ละชั้นประกอบด้วยโปรตีน ภายในมีคลอโรฟิลล์และรงควัตถุต่างๆแทรกอยู่ในชั้นของฟอสโฟลิปิด รงควัตถุทั้งหมดที่พบในชั้นนี้รวมเรียกว่า ควอนทาโซม ( quantasome )
            2. สโทรมา ( stroma ) เป็นของเหลวที่อยู่ภายในคลอโรพลาสต์ รวมทั้งดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ ไรโบโซม ผลึกของสารบางชนิด ตลอดจนเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงแบบที่ไม่ต้องใช้แสงสว่าง (dark reaction) และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการหายใจหลายชนิด เช่น คะทะเลส ( catalase ) ไซโทโครมออกซิเดส ( cytochrome oxidase ) ฟอสโฟรีเลส ( phosphorylase ) ดีไฮโดรจีเนส ( dehydrogenase ) โพลีฟีนอลออกซิเดส ( polyphenol oxidase ) เป็นต้น
ควอนทาโซม ( Quantasome )
            เป็นอนุภาคเล็กๆมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 200 อังสตรอม หนา 100 อังสตรอม และมีน้ำหนักโมเลกุล 2 x 10 6 ดาลตัน อนุภาคนี้จะเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบอยู่ที่ชั้นของไทลาคอยด์ แต่ละควอนทาโซมประกอบไปด้วย รงควัตถุที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ด้วยแสง จึงเรียกว่าเป็น ฟอสโฟซินเทติก ยูนิต ( photosynthetic unit ) ของคลอโรพลาสต์
หน้าที่ของคลอโรพลาสต์
            ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงมาเป็นพลังงานเคมีในอาหาร กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงมี 2 ระยะคือ ปฏิกิริยาการสังเคราะห์แสงแบบใช้แสงสว่างเกิดที่กรานาและอินเทอร์กรานาและปฏิกิริยาที่ไม่ใช้แสงเกิดที่สโทรมา

 


          http://cyberlab.lh1.ku.ac.th/elearn/faculty/science/sci30/lesson2/2.8.htm

<< Go Back