<< Go Back

       เบาหวาน เป็นความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน อันส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ โรคนี้มีความรุนแรงสืบเนื่องมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้อย่างเหมาะสม โดยปกติน้ำตาลจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมาก ในระยะยาวจะมีผลในการทำลายหลอดเลือด ทำลายระบบประสาทส่วนปลาย ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อน ปี 2550 พบผู้ป่วยเบาหวานแล้วถึง 246 ล้านคน โดยผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก 4 ใน 5 เป็นชาวเอเชีย ปี 2553 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานทั้งหมด 6,855 คน หรือวันละ 19 คน

ประวัติ
               ภาวะเบาหวานมีการค้นพบมานานแล้วในยุคโบราณของ อียิปต์ กรีซ โรม และอินเดีย ในเบื้องต้นรายงานว่ามีอาการน้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะมีรสหวาน จึงได้มีการแนะนำทางด้านอาหาร พ.ศ. 613 ชาวโรมันชื่อ Aretaeus ได้ทำการบันทึกอาการกระหายน้ำและปัสสาวะบ่อย โดยตั้งชื่ออาการว่า 'diabetes' ซึ่งมีความหมายในภาษาอังกฤษ: to flow through ต่อมาในปี พ.ศ. 2218 Thomas Willis แพทย์ชาวอังกฤษได้กล่าวถึงรสหวานในปัสสาวะในชื่อของ 'mellitus' ซึ่งหมายถึง 'honeylike' ในที่สุดการแพทย์ในยุคนั้นได้เสนอแนะว่าสาเหตุของโรคเบาหวานเกี่ยวข้องกับการแทนที่คาร์โบไฮเดรต

ชนิดและสาเหตุ

     เบาหวาน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 สาเหตุของโรคเบาหวาน ชนิดที่ 1 เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน ทำให้ร่างกายหยุดการสร้างอินซูลิน ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดระยะยาว แม้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายอย่างแน่ชัดว่า ทำไมภูมิคุ้มกันของร่างกายจึงทำลายเซลล์ของตับอ่อน แต่เราก็ทราบว่าปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับโอกาสการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 คือ การได้รับสารพิษ,การติดเชื้อ, การแพ้นมวัวโดยเฉพาะในเด็กเล็ก                โรคเบาหวานชนิดที่ 2 สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบชัดเจน แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักตัวมาก การขาดการออกกำลังกาย และวัยที่เพิ่มขึ้น เซลล์ของผู้ป่วย

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ร่างกายยังคงมีการสร้างอินซูลิน แต่ทำงานไม่เป็นปกติเนื่องจากมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เซลล์ที่สร้างอินซูลินค่อยๆถูกทำลายไป บางคนเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนโดยไม่รู้ตัว และต้องการยาในการรับประทาน และบางรายต้องใช้อินซูลินชนิดฉีด เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือด

 อาการ

               ถ้าหากพบอาการดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์
               ปัสสาวะมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น
               ปัสสาวะกลางคืนบ่อยขึ้น (ระหว่างช่วงเวลาที่เข้านอนแล้วจนถึงเวลาตื่นนอน)
               หิวน้ำบ่อยและดื่มน้ำในปริมาณที่มากๆ
               เหนื่อยง่ายไม่มีเรี่ยวแรง
               น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะถ้าหากน้ำหนักเคยมากมาก่อน
               ติดเชื้อบ่อยกว่าปกติ เช่น ติดเชื้อทางผิวหนังและกระเพาะอาหาร
               สายตาพร่ามองเห็นไม่ชัดเจน
               เป็นแผลหายช้า
               โดย เบาหวานชนิดที่ 2 อาจจะมีอาการเหล่านี้บางอย่าง หรืออาจไม่มีอาการเหล่านี้เลย
               หมายเหตุ ผู้ป่วยเบาหวาน ในระยะแรก มักไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ยกเว้นจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนปกติเท่านั้น

ที่มา : http://www.healthkonthai.com/wp-content/uploads/2012/12/เบาหวาน.jpg
 

  ขอบคุณเนื้อหาเพิ่มเติม 

  http://th.wikipedia.org/wiki/เบาหวาน

    << Go Back