
หัวใจ ของคน มี 4 ห้อง คือ ห้องบน 2 ห้อง และห้องล่าง 2 ห้อง ห้องบนขวา (Right atrium) ทำหน้าที่รับเลือดที่มีออกซิเจนตํ่าเข้ามาทางหลอดเลือดดำ(Vein) ขนาดใหญ่ คือ ซุพีเรียเวนาคาวา (Superior vena cava) และอินฟีเรีย เวนาคาวา (Inferior vena cava) แล้วไหลลงสู่หัวใจห้องล่างขวา(Right ventricle) ผ่านลิ้นหัวใจชื่อไตรคัดปิด (Tricuspid หรือ Atrioventricular valve) เลือดดำจากหัวใจห้องล่างขวาจะส่งไปแลกเปลี่ยนก๊าซที่ปอดทางหลอดเลือดพัลโมนารีอาร์เทอรี (Pulmonary artery) โดยผ่านลิ้นที่กั้นระหว่างโคนของเส้นเลือดนี้กับหัวใจเรียกว่า พัลโมนารี เซมิลูนาร์ (Pulmonary semilunar valve) แล้วกลับเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้าย (Left atrium) ทางหลอดเลือดพัลโม นารี เวน (Pulmonary vein) ไหลลงสู่หัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) ผ่านลิ้นหัวใจชื่อไบคัดปิด (Bicuspid หรือ Mitral valve) จากนั้นหัวใจห้องล่างซ้ายจะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายทางหลอดเลือดแดง ขนาดใหญ่ชื่อ เอออร์ตา (Aorta) ที่โคนของเส้นเลือดนี้มีลิ้นกั้นไม่ให้เลือดไหลกลับ เรียกว่า เอออร์ติก เซมิลูนาร์ (Aortic semilunar valve)


ข้อควรจำ
ขณะที่กล้ามเนื้อหัวใจหดตัวและคลายตัว จะมีการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ไฟฟ้าภายใน เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ สามารถบันทึกได้ด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography) ผลของการบันทึกจะปรากฏเป็นรูปกราฟ เรียกว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) (ECC หรือ EKG)

โดยปกติผู้ใหญ่จะมี ความดันเลือด ประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ตัวเลขตัวแรกหมายถึง ค่าความ ดันเลือดสูงสุดขณะที่หัวใจบีบตัว เรียกว่า ความดันซิสโทลิก (Systolic pressure) ตัวเลขตัวหลังหมายถึง ค่าความดันเลือดตํ่าสุดขณะที่หัวใจคลายตัว เรียกว่า ความดันไดแอสโทลิก (Diastolic pressure)
ชีพจร คือ คลื่นที่เกิดจากการหดตัวและขยายตัวของหลอดเลือดแดงสลับกันตามจังหวะการเต้นของหัวใจ จำนวนครั้งที่ชีพจรเต้นจะเท่ากับการเต้นของหัวใจในหนึ่งหน่วยเวลา ตำแหน่งที่สามารถจับชีพจรได้จะต้องเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดแดงผ่าน เช่น ข้อพับแขน ข้อมือ ตาตุ่ม หลังเท้า ใต้คาง เป็นต้น

1. หลอดเลือดอาร์เตอรี (Artery) หรือหลอดเลือดแดง เป็นหลอดเลือดที่ทำหน้าที่นำเลือดออกจากหัวใจ โดยเลือดจะออกจากหัวใจทางหลอดอาร์เทอรีขนาดใหญ่ที่สุด เรียกว่า เอออร์ตา (Aorta) ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร และไหลไปตามหลอดอาร์เทอรีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จนถึงอาร์เทอริโอล (Arteriole) ซึ่งเป็นหลอดเลือดอาร์เทอรีที่มีขนาดเล็กที่สุด หลอดเลือดอาร์เตอรีเรียงตามขนาดจากใหญ่ที่สุดไปเล็กที่สุดได้ ได้แก่
เอออร์ตา (Aorta) อาร์เตอรี (Artery) อาร์เทอริโอล (Arteriole)
2. หลอดเลือดเวน (Vein) หรือหลอดเลือดดำ เป็นหลอดเลือดที่นำเลือดเข้าสู่หัวใจ เริ่มจากเส้นเวนูล(Venule) ซึ่งเป็นหลอดเวนที่ีมีขนาดเล็กที่สุดไหลไปตามหลอดเวนขนาดเล็กจนถึงหลอดเวนขนาดใหญ่ที่สุด คือ เวนาคาวา (Vena cava) ในหลอดเลือดเวนจะมีลิ้นกั้นอยู่ภายในเป็นระยะๆ และการหดตัวของกล้ามเนือที่อยู่รอบๆ หลอดเวนจะช่วยให้เลือดเคลื่อนไปสู่หัวใจได้ หลอดเลือดเวนเรียงตามขนาดจากใหญ่ที่สุดไปเล็กที่สุดได้ ดังนี้
เวนาคาวา (Vena cava) เวน (Vein) เวนูล (Venule)
3. หลอดเลือดฝอย (Capillaries) เป็นหลอดเลือดที่มีผนังบางมาก ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเพียงชั้นเดียว สานกันเป็นร่างแหเชื่อมต่อระหว่างอาร์เทอริโอลกับเวนูล (Venule)
ขั้นตอนการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือด


ภาพแสดง ขั้นตอนการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือด
ตารางแสดงการไหลเวียนเลือดผ่านอวัยวะในร่างกาย

ส่วนประกอบของเลือดคน
เลือดคน มีประมาณร้อยละ 7-8 ของน้ำหนักตัว ในจำนวนนี้ประกอบด้วย ส่วนที่เป็นน้ำเลือด (Plasma) 55% และส่วนที่เป็นเม็ดเลือด (Blood corpuscle) 45% แบ่งออกเป็น 3 พวก คือ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด

1. เม็ดเลือดแดง (Red blood cell or erythrocyte) ในระยะเอ็มบริโอเม็ดเลือดแดงถูกสร้างจากตับ ม้าม และ ไขกระดูก ภายหลังคลอดแล้วจะสร้างจากไขกระดูก มีลักษณะกลมแบน พื้นด้านหน้าเว้าเข้าหากันทั้งสองด้าน เซลล์เม็ดเลือดแดงของคนที่สร้างขึ้นมาใหม่ๆ เป็นเซลล์ที่มีนิวเคลียส แต่เมื่อเซลล์เติบโตเต็มที่แล้วจะสูญเสียนิวเคลียสและไมโทคอนเดรีย ในแต่ละเซลล์ของเม็ดเลือดแดงจะมีฮีโมโกลบินบรรจุอยู่ ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการลำเลียงออกซิเจน เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่มีนิวเคลียส จึงไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ทำให้มีช่วงอายุอยู่ในกระแสเลือดเพียง 100-120 วัน
2. เม็ดเลือดขาว (Leucocyte or white blood cell) เซลล์เม็ดเลือดขาว เป็นเซลล์ที่ไม่มีสีแดง เพราะเม็ดเลือดขาวไม่มีฮีโมโกลบิน ลักษณะรูปร่างของเม็ดเลือดขาวค่อนข้างกลม มีการเคลื่อนที่คล้ายอะมีบา ภายในเซลล์มีนิวเคลียส เซลล์เม็ดเลือดขาวมีขนาดใหญ่กว่าเม็ดเลือดแดง ในร่างกายของคนเรามีประมาณ 5000-10000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร อายุของเม็ดเลือดขาวประมาณ 2-3 วัน โดยจะมีการสร้างใหม่และมี การทำลายตลอดเวลา มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย
3. เกล็ดเลือดหรือเพลตเลต (Platelet or thrombocyte) สร้างมาจากไขกระดูกแล้วขาดเป็นชิ้นๆ เพลตเลตมีอายุประมาณ 10 วัน ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด (Blood clotting)






หมู่เลือด แบ่งออกเป็น 4 หมู่ ตามระบบการจำแนก A-B-O ได้แก่ หมู่ Oหมู่ A หมู่ B และ หมู่ AB ซึ่งการจำแนกหมู่เลือดนี้จำแนกตามสมบัติของแอนติเจนและ แอนติบอดี ในเลือดของแต่ละคนตลอดจนปฏิกิริยา ที่เกิดขึ้นดังตาราง

หมายถึง ให้ได้หรือรับได้ หมายถึง ให้ไม่ได้หรือรับไม่ได้
*การให้เลือดอาจยึดหลักที่ว่า แอนติเจนของผู้ให้เลือดต้องไม่ตรงกับแอนติบอดีของผู้รับ
หมู่เลือดระบบ Rh
คนไทยมากกว่าร้อยละ 90 จะมีแอนติเจน Rh อยู่ที่เยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดแดง เรียกว่า มีหมู่เลือด Rh+
คนที่ไม่มีแอนติเจน Rh ที่ผิวเม็ดเลือดแดง เรียกว่า มีหมู่เลือด Rh-
คนที่มีหมู่เลือด Rh- เมื่อได้รับเลือดหมู่ Rh+ แอนติเจนของหมู่เลือด Rh+ จะกระตุ้นให้คนที่มีหมู่เลือด Rh- สร้างแอนติบอดีต่อ Rh ขึ้น
หลักการให้และรับเลือดในระบบ Rh
1. คนที่มีหมู่เลือด Rh+ สามารถรับเลือดได้ทั้งหมู่ Rh+ และ Rh-
2. คนที่มีหมู่เลือด Rh- ต้องได้รับเลือดหมู่ Rh- เท่านั้น แต่ถ้ารับเลือดหมู่ Rh+ ครั้งแรกอาจไม่เกิดอันตราย แต่จะเกิดอันตรายรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรับเลือดหมู่ Rh+ ครั้งต่อๆ ไป
3. แม่มีหมู่เลือด Rh+ ลูกในครรภ์จะมีหมู่เลือด Rh+ หรือ Rh- ก็ตาม จะปลอดภัย
4. แม่มีหมู่เลือด Rh- ถ้าแม่เคยมีลูกเป็นหมู่เลือด Rh+ มาก่อนแล้ว ลูกคนต่อๆ มาจะต้องมีหมู่เลือด Rh- เท่านั้น จึงจะปลอดภัย
5. แม่มีหมู่เลือด Rh- ถ้าแม่เคยมีลูกเป็นหมู่เลือด Rh+ มาก่อนแล้ว ลูกคนต่อมามีหมู่เลือด Rh+ อีก เลือดของแม่ที่ส่งอาหารไปเลี้ยงทารกมีแอนติบอดีต่อ Rh อยู่ด้วย จะทำปฏิกิริยากับแอนติเจน Rh ที่เยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารก อาจทำให้ทารกตายก่อนคลอดได้ เรียกว่า เกิดอีรีโทรบลาสโทซิสฟีทาลิส







น้ำเหลือง (Lymph) คือ ของเหลวที่ซึมผ่านผนังหลอดเลือดฝอยออกมาอยู่ระหว่างเซลล์หรืออยู่รอบๆ เซลล์ ลักษณะใสไม่มีสี มีส่วนประกอบคล้ายกับพลาสมามาก โดยปกติสารที่มีอยู่ในน้ำเหลือง ประกอบไปด้วยโปรตีนโมเลกุลเล็กๆ อัลบูมิน เม็ดเลือดขาว ก๊าซต่างๆ น้ำ เอนไซม์ และฮอร์โมน ในนํ้าเหลืองจะไม่มีเซลล์เม็ดเลือดแดงและโปรตีนขนาดใหญ่
หน้าที่ของระบบนํ้าเหลือง
ระบบน้ำเหลือง ทำหน้าที่เกี่ยวข้องในระบบภูมิคุ้มกัน เป็นทางให้ของเหลวระหว่างเซลล์ที่เคลื่อนที่เข้าสู่หลอดเลือดฝอยไม่หมด กลับเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด นอกจากนั้นยังทำหน้าที่ในการรักษาสมดุลของน้ำ สมดุลแร่ธาตุภายในร่างกาย อีกทั้งยังขนส่งกรดไขมันและวิตามินต่างๆ ที่ละลายในไขมัน

ระบบภูมิคุ้มกันโรค ในร่างกายของคนเราที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านโรคนั้น เกิดขึ้นได้ 2 วิธี ได้แก่ การก่อภูมิคุ้มกันด้วยตัวเองและการก่อภูมิคุ้มกันรับมา

1. การก่อภูมิคุ้มกันด้วยตัวเอง (Active immunization) คือ การสร้าง ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อร่างกายถูกกระตุ้นโดยตรงจากแอนติเจนหรือสิ่งแปลกปลอม เช่น การนำแอนติเจนอาจเป็นเชื้อโรคที่อ่อนกำลังแล้วมากินหรือทาที่ผิวหนัง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันหรือสร้างแอนติบอดีที่สามารถทำปฏิกิริยาจำเพาะต่อแอนติเจนชนิดนั้นๆ ตัวอย่างเช่น วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ไอกรน อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ เป็นต้น เชื้อโรคที่ถูกทำให้อ่อนกำลังแล้วที่นำมากระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อต้านเชื้อนั้นๆ เรียกว่า วัคซีน (Vaccine)
2. การก่อภูมิคุ้มกันรับมา (Passive immunization) หมายถึง การสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับแอนติบอดีโดยตรง ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาทันที วิธีนี้ใช้ในการรักษาโรคบางชนิดที่แสดงอาการรุนแรงเฉียบพลัน ภูมิคุ้มกันแบบนี้เตรียมได้โดยการฉีดเชื้อโรคที่อ่อนกำลังลงแล้วฉีดเข้าไปในกระต่ายหรือม้า ซึ่งทำให้สัตว์เหล่านี้สร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเชื้อโรคนั้น แล้วนำซีรัมของม้าหรือกระต่ายซึ่งมีแอนติบอดีอยู่ไปฉีดให้กับผู้ป่วย วิธีการนี้จะทำให้ผู้ป่วยได้รับภูมิคุ้มกันโดยตรง สามารถต่อต้านเชื้อโรคได้ทันที ตัวอย่างเช่น ซีรัมแก้พิษงู (Antitoxic serum) ซีรัมป้องกันโรคคอตีบ

ภาพแสดง ระบบภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายของคน

การหายใจ (Respiration) ประกอบไปด้วย 2 ขั้นตอน ได้แก่ การแลกเปลี่ยนก๊าซ และการนำออกซิเจนที่ได้จากการแลกเปลี่ยนไปใช้ในการสร้างสารพลังงานสูงหรือปฏิกิริยาการหายใจระดับเซลล์
โครงสร้างและกลไกสำหรับการแลกเปลี่ยนก๊าซของคน
อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจของคนเริ่มตั้งแต่ รูจมูก (Nostrils) → โพรงจมูก (Nasal cavity) → คอหอย (Pharynx) → หลอดลม (Trachea) → ขั้วปอด (Bronchus ) → แขนงขั้วปอด (Bronchiole) → ถุงลม (Alveolus) → หลอดเลือดฝอย (Capillary) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบลำเลียงในปอดของคน แต่ละข้างจะมีถุงลมประมาณ 300 ล้านถุง คิดเป็นพื้นที่ผิวทั้งหมดในการแลกเปลี่ยนก๊าซของถุงลมปอดทั้งสองข้างประมาณ 90 ตารางเมตร หรือประมาณ 40 เท่าของพื้นที่ผิวร่างกาย

อากาศเข้าและออกจากปอดโดยอาศัยหลักของความแตกต่างระหว่างความดันอากาศภายในปอดกับอากาศภายนอกปอด โดยการเพิ่มและลดปริมาตรของทรวงอก เนื่องจากการเคลื่อนไหวของซี่โครงและกระบังลม (Diaphragm)
การหายใจของคนมีการควบคุมอยู่ที่ศูนย์หายใจ (Breathing Center) ที่สมองส่วน Medulla Oblongata เซลล์สมองส่วนนี้มีความว่องไวต่อปริมาณ CO2 ถ้าปริมาณของ CO2 มาก ศูนย์หายใจจะกระตุ้นให้มีการหายใจเร็วขึ้น ถ้าปริมาณ CO2 ตํ่า ศูนย์หายใจจะสั่งการให้มีการหายใจช้าลง

ตารางแสดง การทำงานของอวัยวะหายใจเมื่อมีการสูดลมหายใจเข้า (Inhalation) และการหายใจออก (Exhalation)

การแลกเปลี่ยนก๊าซในร่างกาย
การแลกเปลี่ยนก๊าซในร่างกายของคนเกิดขึ้น 2 แห่ง คือ
1. การแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างถุงลมปอดกับหลอดเลือดฝอย เมื่ออากาศจากภายนอกผ่านทางเดินหายใจไปถึงถุงลมปอด ออกซิเจนจะแพร่ผ่านผนังของถุงลมปอด ซึ่งประกอบด้วยเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวบางๆเพียงชั้นเดียวผ่านผนังหลอดเลือดฝอยที่ ประกอบด้วยเซลล์บางๆ เพียงชั้นเดียวเช่นกัน แล้วรวมกับฮีโมโกลบินใน เซลล์เม็ดเลือดแดง (Red blood cell) ขณะเดียวกันคาร์บอนไดออกไซด์จะแพร่ออก ในทิศทางตรงกันข้ามกับการแพร่ของออกซิเจน โดยที่ผนังของถุงลมปอดและผนังของหลอดเลือดฝอย ไม่ได้ต้านทานการแพร่ผ่านของก๊าซทั้งสองชนิดเลย จึงทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซที่ตำแหน่งนี้เกิดขึ้นเร็วมาก การแลกเปลี่ยนก๊าซดังกล่าวถูกควบคุมเบื้องต้นโดยการแพร่ (Diffusion) ซึ่งอาศัยความแตกต่างของความดันย่อยของออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ระหว่างอากาศถุงลมปอดกับในหลอดเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงถุงลมปอดอย

2. การแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างหลอดเลือดฝอยกับเซลล์ เมื่อปริมาณออกซิเจนในเซลล์ลดลงและมีคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น และในหลอดเลือดฝอยมีปริมาณออกซิเจนมาก แต่มีคาร์บอนไดออกไซด์น้อย จะทำให้ออกซิเจนในเลือดแพร่เข้าสู่เซลล์และคาร์บอนไดออกไซด์ ในเซลล์แพร่เข้าสู่หลอดเลือดฝอย

การขนส่งออกซิเจน
ออกซิเจนในเลือดขนส่งได้ 2 ลักษณะ คือ
1. ละลายในน้ำเลือด (Dissolved O2 ) เมื่อออกซิเจนแพร่จากอัลวีโอลัสเข้าสู่หลอดเลือดฝอยแล้ว ส่วนหนึ่งประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ จะละลายในน้ำเลือดแล้วขนส่งไปให้เซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย
2. รวมตัวกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง (Oxyhemoglobin หรือ HbO2) ออกซิเจนในเลือดมีความสามารถจับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงได้มากกว่าการละลายในน้ำเลือดถึง 65 เท่า ซึ่งตำแหน่งที่ออกซิเจนไปจับคือตำแหน่งที่มีธาตุเหล็กในโมเลกุลของฮีโมโกลบิน

ภาพแสดง การขนส่งออกซิเจน
การขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์
1. ละลายในน้ำเลือด (Dissolved CO2 ) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีความสามารถในการละลายในน้ำเลือดสูงกว่าออกซิเจนประมาณ 23 เท่า แต่ขนส่งในรูปของสารละลายได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จำเป็นต้องขนส่งโดยวิธีอื่นอีก จึงจะขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้ตามต้องการ
2. ขนส่งในรูปของไฮโดรเจนคาร์บอเนตไอออน (HCO3) คาร์บอนไดออกไซด์จะถูกขนส่งในรูปนี้มากที่สุด โดยจะทำปฏิกิริยาเคมีกับน้ำทั้งในน้ำเลือดและในเม็ดเลือดแดง
3. ขนส่งในรูปคาร์บามิโนฮีโมโกลบิน (Carbaminohemoglobin หรือ HbNCOOH) ประมาณร้อยละ 25 ของคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายจะแพร่เข้าไปในเม็ดเลือดแดง แล้วจับกับฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดงอย่างหลวมๆ แล้วขนส่งไปยังปอดในรูปของสารประกอบที่เรียกว่า คาร์บามิโนฮีโมโกลบิน
* ฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดงสามารถรวมตัวกับคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ได้ดีกว่าออกซิเจนถึง 200-250 เท่า ดังนั้นเมื่อหายใจเอาอากาศที่มี CO เข้าไป เลือดจึงรับ O2 น้อยลง หัวใจจึงต้องสูบฉีดเลือดให้เร็วขึ้น เพื่อให้เลือดผ่านปอดมากขึ้นจะได้มีโอกาสรับ O2 ได้มากขึ้น หัวใจ และปอดจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อจะนำเอาออกซิเจนไปสู่เซลล์ให้เพียงพอ
สมการการหายใจที่เกิดขึ้นบริเวณถุงลมปอดกับหลอดเลือดฝอย ซึ่งเป็นการรับออกซิเจนจากภายนอกเข้าสู่เลือด และเป็นการปลดปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ออกนอกร่างกาย

ภาพแสดง การหายใจที่เกิดขึ้นบริเวณถุงลมปอดกับหลอดเลือดฝอย

สมการที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อต่างๆ กับหลอดเลือดฝอย ซึ่งเป็นการปลดปล่อยออกซิเจนเข้าสู่เซลล์ และเป็นการรับคาร์บอนไดออกไซด์จาก Metabolism ของเซลล์ลำเลียงออกไปนำไปกำจัดออกที่ถุงลมปอดผ่านทางลมหายใจออก
1. HbO2
O2+ Hb
2. CO2 + H2 O H2 CO3 H+ + HCO-3
3. Hb + CO2 HbCO2
ศูนย์ควบคุมการหายใจ
การควบคุมการหายใจ สามารถจำแนกออกได้ 2 รูปแบบด้วยกันได้แก่ การควบคุมแบบอัตโนวัติ และการควบคุมแบบภายใต้อำนาจจิตใจ
1. การควบคุมแบบอัตโนวัติ คือ การควบคุมที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ เราไม่สามารถควบคุมมันได้ โดยศูนย์ควบคุมการหายใจอยู่ที่สมองที่มีชื่อว่า Medulla oblongata (ควบคุมการหายใจเข้าออก) และ Pons (ควบคุมจังหวะการหายใจ) ถ้าในเลือดมีคาร์บอนไดออกไซด์มากจะ ไปกระตุ้นให้ศูนย์ควบคุมการหายใจไปบังคับให้อวัยวะหายใจทำงานมากขึ้น เพื่อกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกนอกร่างกาย
2. การควบคุมแบบภายใต้อำนาจจิตใจ คือ การควบคุมที่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ เราสามารถควบคุมมันได้ แต่จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยศูนย์ควบคุมการหายใจประเภทนี้จะอยู่ที่สมองส่วนซีรีบัลคอร์เทกซ์ ไฮโพทาลามัส และซีรีเบลลัม
* เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้เราจึงไม่สามารถกลั้นหายใจเพื่อฆ่าตัวตายได้
ข้อควรทราบ
1. โรคปอดบวม (Pneumonia) เกิดจาก แบคทีเรีย หรือไวรัส ไปทำลายพื้นที่ผิวในการแลกเปลี่ยนก๊าซของปอด ทำให้พื้นที่ผิวในการแลกเปลี่ยนก๊าซลดลง
2. โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) เกิดจากการสูดเอาอากาศที่เป็นพิษ เช่น ควันบุหรี่ ควันจากโรงงาน ท่อไอเสีย ทำให้ถุงลมขาดความยืนหยุ่น ขาดง่าย พื้นที่แลกเปลี่ยนก๊าซลดลง
3. มะเร็งปอด เกิดจากการสูดเอาอากาศที่เป็นพิษ เช่น ควันบุหรี่ เช่นเดียวกับโรคถุงลมโป่งพอง
4. น้ำท่วมปอด (Pulmonary edema) มีสาเหตุมาจากการเพิ่มความดันในเส้นเลือดฝอย ทำให้น้ำเลือดไหลออกจากเส้นเลือดฝอยเข้าสู่ถุงลมปอด
5. การไอ เกิดจากการหายใจเอาอากาศที่ไม่สะอาดเข้าไป
6. การจาม เกิดจากการระคายเคืองในโพรงจมูก
7. การสะอึก เกิดจากกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหายใจหดตัวอย่างแรงพร้อมกับอากาศถูกดันผ่านลงสู่ปอดทันที เป็นผลให้สายเสียงสั่น และเป็นเสียงดังขึ้น
8. หาว เป็นการไล่ CO2ที่มีมากในเลือดออกไปจากร่างกาย

ภาพเปรียบเทียบถุงลมปกติกับถุงลมของผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง
 




การขับถ่าย (Excretion) คือ การที่ร่างกายของสิ่งมีชีวิตใช้สำหรับขับถ่ายของเสียจาก เมแทบอลิซึม (Metabolism) ของร่างกายออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น CO2 , N-waste, น้ำ และเกลือแร่ส่วนเกิน แต่ไม่นับรวมถึงสารที่ร่างกายขับออกมาแล้วมีประโยชน์ เช่น น้ำลาย ขี้หู ขี้ตา น้ำตา น้ำย่อย หรือกากอาหารที่ถูกขับออกมาในรูปของอุจจาระ เพราะร่างกายไม่สามารถย่อยได้ ซึ่งชีวิตแต่ละชนิดมีกลไกที่ใช้ในการขับถ่ายเพื่อรักษาสมดุลของร่างกายแตกต่างกัน
Nitrogenous waste(N-waste) คือ ของเสีย ที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ ส่วนใหญ่ได้จากการ สลายสารอาหารพวกโปรตีนและ กรดนิวคลีอิก
ตัวอย่าง Nitrogenous waste เช่น แอมโมเนีย ยูเรีย กรดยูริก
- แอมโมเนีย (NH3) ละลายน้ำได้ดี มีความเป็นพิษสูง เพราะฉะนั้นการขับต้องใช้น้ำปริมาณมาก สามารถขับได้โดยการแพร่
- ยูเรีย (Urea) ละลายน้ำได้ดี มีความเป็นพิษ แต่น้อยกว่า NH3 การขับใช้น้ำน้อยกว่า NH3
- กรดยูริก (Uric acid) เป็นของแข็งไม่ละลายน้ำ ขับถ่ายเป็นของแข็งปะปนไปกับอุจจาระไม่มีความเป็นพิษ แต่ใช้พลังงานในการขับมาก
ข้อควรจำ
1. เรียงลำดับตามความเป็นพิษของ N-wasteได้แก่ NH3 > Urea > Uric acid
2. เรียงลำดับตามปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในการขับถ่ายได้แก่ NH3 > Urea > Uric acid
3. เรียงลำดับตามการใช้พลังงานในการขับถ่าย ได้แก่ Uric acid > Urea > NH3
การขับถ่ายของคน
ไต (Kidneys) เป็นอวัยวะขับถ่าย ช่วยรักษาสมดุลน้ำ สมดุลเกลือแร่ รักษา pH ของร่างกายและสร้างฮอร์โมน (Erythropoietin) มากระตุ้นไขกระดูกให้เพิ่มอัตราการสร้างเม็ดเลือดแดงได้ด้วย ไตคนมีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วแดง อยู่ในช่องท้องด้านหลังของลำตัว เมื่อผ่าไตตามยาวจะสังเกตเห็นเนื้อไต 2 ชั้น คือ ชั้นนอกและชั้นใน ซึ่งในเนื้อไตแต่ละข้างประกอบด้วย หน่วยไต (Nephron) มากมาย ทำหน้าที่กำจัด ของเสียในรูปของปัสสาวะ (Urine) แล้วส่งมารวมกันที่กรวยไต (Renal pelvis) ก่อนส่งเข้าสู่ ท่อไต (Ureter) แล้วนำไปเก็บพักไว้ที่ กระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder) ก่อนจะปัสสาวะออกไปนอกร่างกายผ่านทางท่อปัสสาวะ (Urethra) ซึ่งเป็นท่อเปิดที่ใช้ร่วมกับระบบสืบพันธุ์เพศชาย ในน้ำปัสสาวะของคนปกติจะไม่พบโปรตีนและกลูโคส เนื่องจากโมเลกุลของโปรตีนมีขนาดใหญ่จึงไม่ถูกกรองผ่านผนังของโกลเมอรูลัส กลูโคสเป็นสารที่มีประโยชน์จึงถูกดูดกลับจนหมดที่ท่อขดส่วนต้น

หน่วยไตแต่ละหน่วยประกอบด้วยโครงสร้างย่อย ดังนี้

ภาพแสดง โครงสร้างย่อยของหน่วยไต
1. โบว์แมนแคปซูล (Bowman's capsule) มีลักษณะคล้ายถ้วย ล้อมรอบกลุ่มของเส้นเลือดฝอยที่ เรียกว่า โกลเมอรูลัส (Glomerulus)
2. ท่อหน่วยไต มีหน้าที่ในการดูดกลับน้ำและสารต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
2.1 ท่อขดส่วนต้น (Proximal convoluted tubule)เป็นบริเวณที่มีการดูดกลับน้ำและสารที่มีประโยชน์มากที่สุด
2.2 ห่วงเฮนเล (Loop of Henle)
2.3 ท่อขดส่วนปลาย (Distal convoluted tubule)
2.4 ท่อรวม (Collecting duct) เป็นบริเวณที่มีการดูดสารอาหารกลับเข้าสู่ร่างกาย และเป็นแหล่งรวมของเหลวที่เกิดจากการทำงานของหน่วยไต ซึ่งสุดท้ายแล้วจะกลายเป็นปัสสาวะก่อนที่จะส่งต่อไปยังกรวยไต
3. หลอดเลือดฝอย (Capillary) ทั้งที่พันอยู่รอบๆ ท่อหน่วยไตและที่พันเป็นก้อนเรียกโกลเมอรูลัส (Glomerulus) อยู่ในโบว์แมนแคปซูล ผนังของโกลเมอรูลัส ทำหน้าที่เป็นเยื่อกรองให้น้ำเลือดไหลผ่านเข้าสู่โบว์แมนแคปซูล โดยเลือดในเส้นเลือดเข้าไต (Renal artery) จะมีของเสียปนอยู่มากกว่าเลือดในเส้นเลือดที่ออกจากไต (Renal vein)
โครงสร้างของหน่วยไตที่อยู่ในชั้น Cortex คือ กลุ่มเส้นเลือดฝอยโกลเมอรูลัส (Glomerulus), โบว์แมนส์แคปซูล (Bowman's capsule), ท่อขดส่วนต้น (Proximal convoluted tubule), ท่อขดส่วนปลาย (Distalconvoluted tubule)
โครงสร้างของหน่วยไตที่อยู่ในชั้น Medulla คือ ห่วงเฮนเล (Loop of Henle), ท่อรวม (Collecting tubule)

ภาพแสดง โครงสร้างของหน่วยไตที่อยู่ในชั้น Cortex และ Medulla
การกรองสารและการดูดสารกลับของท่อหน่วยไต
การกรองที่หน่วยไตเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงที่นำเลือดเข้าสู่ไต (Renal artery) แตกแขนงออกเป็นหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก (Renal arteriole) แล้วแยกย่อยกลายเป็นหลอดเลือดฝอยที่อยู่ภายในถ้วยโบว์แมนแคปซูลหรือที่เรียกว่าโกลเมอรูรัส ของเหลวในหลอดเลือดฝอยจะมีแรงดัน ทำให้สามารถดันของเหลวต่างๆ ที่อยู่ภายในหลอดเลือดฝอยผ่านผนังถ้วยถ้วยโบว์แมนแคปซูลซึ่งมีคุณสมบัติเป็นเยื่อ เลือกผ่าน ดังนั้นการ กรองนี้จึงขึ้นอยู่กับแรงดันเลือดเป็นสำคัญ ของที่มีขนาดโมเลกุลเล็กจะสามารถผ่านไปได้ เช่น น้ำ เกลือ แร่ วิตามิน N-waste กรดอะมิโน กลูโคส และสารโมเลกุลใหญ่จะไม่สามารถผ่านการกรอกบริเวณนี้ไปได้ เช่น โปรตีน เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เป็นต้น

ภาพแสดง การกรองสารและการดูดสารกลับของท่อหน่วยไต
ตารางเปรียบเทียบสารในของเหลว 3 ชนิด คือ พลาสมา ของเหลวที่กรองผ่านโกลเมอรูลัสและปัสสาวะ


สมองส่วน ไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) เป็นสมองส่วนที่ควบคุมสมดุลของน้ำและอุณหภูมิภายในร่างกาย มีศูนย์ควบคุมการกระหายน้ำ ซึ่งตอบสนองต่อแรงดันออสโมติกที่เปลี่ยนแปลงไป
แรงดันออสโมติกของเลือด (Osmotic Pressure: OP) เป็นคุณสมบัติของสารละลายที่แปรผันตามความเข้มข้นของสารละลาย ส่วนแรงดันเลือด (Blood Pressure: BP) คือแรงดันที่เกิดจากการบีบตัวของหัวใจ มีค่าปกติ 120/80 โดยเมื่อร่างกายขาดน้ำ เลือดจะเข้มข้น มีแรงดันเลือดตํ่า แรงดันออสโมติกสูง แต่เมื่อดื่มน้ำเข้าไปจะมีน้ำในเลือดมาก เลือดจะเจือจาง มีแรงดันเลือดสูง แรงดันออสโมติกตํ่า)

การดูดกลับน้ำ จะถูกควบคุมด้วยฮอร์โมน ADH หรือ Vasopressin ที่สร้างจากสมองส่วนไฮโพทาลามัส แล้วหลั่งไปเก็บไว้ที่ต่อมใต้สมองส่วนท้าย ฮอร์โมนนี้ทำหน้าที่ควบคุมการดูดกลับน้ำที่ท่อขดส่วนท้าย ถ้าต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติหลั่งฮอร์โมน ADH ออกมาน้อยหรือไม่หลั่ง จะมีผลทำให้เกิดการดูดกลับน้ำบริเวณท่อหน่วยไตน้อย หรือมีการขับน้ำออกไปกับการถ่ายปัสสาวะมากกว่าปกติ เรียกว่า เป็นโรคเบาจืด (Diabetes insipidus)

ภาพแสดง การดูดกลับน้ำ
ร่างกายขาดน้ำ → น้ำในเลือดมีน้อย → แรงดันออสโมติกในเลือดสูง → กระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองส่วนไฮโพทาลามัส → หลั่งฮอร์โมน ADH (Antidiuretic hormone) ส่งไปที่ต่อมใต้สมองส่วนหลัง → ปล่อย ADH เข้าสู่กระแสเลือด → ลำเลียงไปที่ท่อของหน่วยไต → กระตุ้นให้ท่อของหน่วยไตดูดน้ำกลับ → ทำให้น้ำในเลือดมาก → แรงดันออสโมติกในเลือดลดลง → ยับยั้งไม่ให้ไฮโพทาลามัสหลั่ง ADH ออกมา |
ฮอร์โมนอัลโดสเทอโรน (Aldosterone) เป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากต่อมหมวกไตส่วนนอก ทำหน้าที่ควบคุมการดูดกลับของโซเดียม (Na+) ที่บริเวณท่อของหน่วยไต ทั้งส่วนต้นและส่วนปลายถ้าขาด ฮอร์โมนชนิดนี้จะเป็น “โรคเบาเค็ม”
ข้อควรจำ
1. การขับปัสสาวะในวัยเด็กจะถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนวัติ เด็กๆจึงปัสสาวะราดบ่อยๆ แต่เมื่อโตขึ้นมาแล้วจะค่อยๆ ควบคุมหูรูดปัสสาวะได้ด้วยตัวเอง
2. ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ คือ สารขับปัสสาวะ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นยาลดความดันเลือด
3. สัตว์ที่ต้องสงวนน้ำ จะป้องกันการสูญเสียน้ำ โดยมีเกล็ดและสร้างปัสสาวะน้อยๆ แต่เข้มข้น (มี Bowman's capsule เล็กหรือมี loop of Henle ยาว)
ความผิดปกติที่เกี่ยวเนื่องกับไต
1. โรคเก๊าท์เกิดจากการสะสมกรดยูริกตามข้อกระดูก
2. โรคนิ่วในไต และในกระเพาะปัสสาวะเกิดจากการบริโภคผัก ใบเขียวที่มีออกซาเลตสูง เช่น ผักโขม ใบชะพลู ทำให้ร่างกายสร้างแร่ธาตุ ออกมามากเกิดการรวมตัวกันเป็นก้อนนิ่วไปอุดทางเดินปัสสาวะ
3. โรคไตวายเกิดจากไตทำงานไม่ได้หรือเสียสภาพในการกรอง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเกิดการติดเชื้อที่รุนแรง หรือมีการสูญเสียเลือดมาก หรืออาจเกิดจากเป็น โรคเบาหวาน ติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ของเสียสะสมอยู่ในร่างกายมาก เกิดความผิดปกติของการรักษาสมดุลน้ำ แร่ธาตุและกรดเบสต่างๆในร่างกาย

หลักการของเครื่องไตเทียม (Artificial kidney)
นำเลือดของผู้ป่วยจากเส้นเลือดอาร์เทอรีบริเวณแขน เข้าสู่เครื่องไตเทียม โดยเข้าไปในท่อที่มีเยื่อเซลโลเฟนรอบๆท่อ มีสารละลายที่มีส่วนประกอบคล้ายคลึงกับส่วนประกอบเลือดคนปกติ แต่ไม่มีของเสียเหมือนกับในเลือด ของเสียในเลือดที่มีความเข้มข้นสูงจะแพร่ผ่านรูเล็กๆ ของเยื่อเซลโลเฟนออกมาในสารละลายทำให้ของเสียในเลือดลดลง หลังจากนั้นเลือดจะผ่านกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยทางเส้นเวน







การสืบพันธุ์ของคนและสัตว์ชั้นสูงอื่นๆ เป็นกระบวนการรวมตัวกันระหว่างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (อสุจิ) และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย(ไข่)
ระบบสืบพันธุ์เพศชาย


ระบบสืบพันธุ์เพศชาย ประกอบด้วยอวัยวะที่สำคัญ ได้แก่
1. อัณฑะ (Testis) ซึ่งอยู่ภายในถุงหุ้มอัณฑะ (Scrotum) ยื่นออกมาอยู่ภายนอกช่องท้องโดยปกติเพศชายจะมีอัณฑะ 1 คู่ ทำหน้าที่สร้างสเปิร์มและฮอร์โมนเพศชายโครงสร้างของอัณฑะประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
1.1 ถุงอัณฑะ (Scrotum) ทำหน้าที่ห่อหุ้มอัณฑะและควบคุมอุณหภูมิให้สม่ำเสมอและเหมาะสมต่อการสร้างอสุจิ คือ อุณหภูมิประมาณ 32-34 º C หรือต่ำกว่าอุณหภูมิของร่างกายประมาณ 3-5 º C
1.2 หลอดสร้างตัวอสุจิ (Seminiferous tubules)ทำหน้าที่สร้างตัวอสุจิและฮอร์โมนเพศชายผนัง หลอดสร้างตัวอสุจิจะมีกลุ่ม เซลล์ที่เรียกว่า ไพรมอร์เดียลเจิร์มเซลล์ (Primordial germ cell) จะทำการแบ่งตัวเจริญเป็นตัวอสุจิ
กระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้

กระบวนการสร้างอสุจิ (Spermatogenesis) เริ่มจากภายในอัณฑะมีเซลล์เริ่มต้นที่จะเจริญไปเป็นเซลล์สืบพันธุ์คือ ไพรมอร์เดียลเจิร์มเซลล์ (Primordialgerm cell(2n)) แบ่งเซลล์แบบไมโทซิสเกิดเซลล์ใหม่มากมาย เรียกว่า สเปอร์มาโทโกเนียม (Spermatogonium(2n)) ซึ่งจะเจริญไปเป็นสเปอร์มาโทไซต์ระยะแรก (Primary spermatocyte (2n)) เมื่อแบ่งเซลล์แบบไมโอซิสขั้นที่ 1 จะได้เซลล์ใหม่ 2 เซลล์ เรียกว่า สเปอร์มาโทไซต์ระยะที่สอง (Secondary spermatocyte (n)) ต่อมาสเปอร์มาโทไซต์ระยะที่สองจะ แบ่งแบบไมโอซิสขั้นที่ 2 ได้เซลล์ใหม่ 4 เซลล์เรียกแต่ละเซลล์ว่า สเปอร์มาทิด (Spermatid (n)) ต่อมาสเปอร์ มาทิดจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเพื่อให้เหมาะสมโดยมีการสร้างแฟลเจลลัมขึ้นมาและลดไซโทพลาซึม ภายในเซลล์ให้น้อยลงทำให้แต่ละเซลล์มีขนาดเล็กลงสามารถเคลื่อนไหวได้คล่อง เรียกเซลล์ระยะนี้ว่า สเปอร์มาโทซัว (Spermatozoa (n)) หรือตัวอสุจิ
โดยเฉลี่ยแล้วผู้ชายจะหลั่งน้ำอสุจิ (Semen) ออกมาประมาณครั้งละ 3 ลูกบาศก์เซนติเมตร จำนวนตัวอสุจิของคนปกติจะมีประมาณ 300-500 ล้านตัว ถ้ามีจำนวนอสุจิต่ำกว่า 30 ล้านตัวต่อลูกบาศก์เซนติเมตรหรือมีอสุจิที่รูปร่างผิดปกติมากอาจจะมีลูกได้ยาก อสุจิจะมีอายุประมาณ 48 ชั่วโมงเมื่อเข้าไปในมดลูกหรือท่อนำไข่
1.3 หลอดเก็บตัวอสุจิ (Epididymis) ทำหน้าที่เป็นแหล่งพักตัวอสุจิให้เจริญเติบโตพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้ก่อนส่งเข้าท่อนำตัวอสุจิ
1.4 เซลล์อินเตอร์สติเชียล (Interstitial cells) ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนควบคุมลักษณะของเพศชาย คือฮอร์โมนเทสโตสเตอโรน (Testosterone)
2. หลอดนำตัวอสุจิ (Vas deferens) ทำหน้าที่นำตัวอสุจิจากแหล่งเก็บผ่านต่อไปยังต่อมสร้างน้ำเลี้ยง
ตัวอสุจิผ่านเข้าสู่ท่อฉีดอสุจิและเข้าสู่ท่อปัสสาวะ (Urethra) ต่อไป
3. ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal vesicle) ทำหน้าที่สร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal Fluid)ประกอบด้วยเมือก กรดอะมิโนและน้ำตาลฟรักโทส (Fructose) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานให้กับตัวอสุจิ
4. ต่อมลูกหมาก (Prostate gland) ทำหน้าที่ผลิตสารที่เป็นเบสอ่อนๆ ปนเข้าไปกับน้ำเลี้ยงตัวอสุจิช่วยป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิได้รับอันตรายจากความเป็นกรดในท่อปัสสาวะและในช่องคลอดของหญิง
5. ต่อมคาวเปอร์ (Cowper gland or Bulbourethral gland) ทำหน้าที่ผลิตและหลั่งสารหล่อลื่นเหลวใส และเหนียวออกมาเพื่อช่วยหล่อลื่นในท่อปัสสาวะในขณะที่ได้รับการกระตุ้นทางเพศ
6. ท่อฉีดอสุจิ (Ejaculatory duct) เป็นท่อที่อยู่ถัดจากหลอดนำตัวอสุจิประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เพื่อช่วยบีบตัวฉีน้ำอสุจิ (Semen) ผ่านเข้าไปในท่อปัสสาวะเมื่อได้รับการกระตุ้นทางเพศ
7. ท่อปัสสาวะ (Urethra) เป็นท่อที่อยู่ต่อจากท่อฉีดอสุจิ แต่อยู่ในส่วนขององคชาต (Penis) ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของน้ำปัสสาวะและน้ำอสุจิน้ำอสุจิประกอบด้วยสิ่งต่างๆ คือ อาหารที่ได้จากต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal vesicle) สารที่ได้จากต่อมลูกหมาก (Prostate gland)สารที่ได้จากต่อมคาวเปอร์(Cowpergland) และตัวอสุจิ (Sperm)
โครงสร้างของตัวอสุจิประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1. ส่วนหัว (Head) ประกอบด้วย นิวเคลียส เป็นส่วนใหญ่ ด้านหน้าเป็นโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงมาจาก Golgi Apparatus เรียกว่าอะ โครโซม (Acrosome) มีลักษณะเป็นถุงที่บรรจุเอนไซม์สำหรับสลายเยื่อหุ้มเซลล์ไข่
2. ส่วนกลาง (Middle Piece) เป็นส่วนของ ไมโทคอนเดรีย ซึ่งทำหน้าที่ผลิตพลังงานสำหรับการเคลื่อนไหว
3. ส่วนหาง (Tail) ประกอบด้วยไมโครทูบูล ทำหน้าที่โบกพัดเพื่อการเคลื่อนที่
ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง 


ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงประกอบด้วยอวัยวะที่สำคัญ ได้แก่
1. มดลูก (Uterus) เป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหลังกระเพาะปัสสาวะ ส่วนของมดลูกที่ติดกับช่องคลอด เรียกว่า ปากมดลูก (Cervix) ตอนล่างจะแคบเข้าหากันเป็นปากมดลูก (Cervix) และติดต่อกับช่องคลอด (Vagina) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น คือ
1. ชั้นใน (Endometrium) มีลักษณะคล้ายฟองน้ำระหว่างตั้งครรภ์เป็นชั้นที่มีการสร้างรก(Placenta) เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนก๊าซและส่งอาหารให้ตัวอ่อนในครรภ์
2. ชั้นกลาง (Myometrium) เป็นกล้ามเนื้อให้ความแข็งแรงมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้มดลูกขยายตัวได้ในขณะตั้งครรภ์และบีบตัวให้ทารกออกมาขณะคลอด
3. ชั้นนอก (Serous Membrane) ผนังชั้นนอกสุดเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
2. ท่อนำไข่ (Oviduct) หรือ ปีกมดลูก (Fallopian tube) เป็นท่อที่ยื่นออกจากมดลูกไปทางด้านข้าง ปลายบานออกเป็นรูปกรวย เรียกว่า Oviducal funnel สำหรับดูดไข่เมื่อมีการตกไข่จากรังไข่และเป็นบริเวณที่เกิดการปฏิสนธิ

3. รังไข่ (Ovary) เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ที่สำคัญที่สุดของเพศหญิงมีขนาดประมาณหัวแม่มือ ภายในรังไข่ทั้ง 2 ข้างของเด็กแรกเกิดจะมีไข่ที่ยังไม่เจริญเต็มที่อยู่จำนวนมากประมาณ 500000 เซลล์ เรียก ไข่ที่ยังไม่เจริญเหล่านี้ว่า โอโอไซต์ระยะแรก (Primary Oocyte) รอบๆ โอโอไซต์ระยะแรกจะมีกลุ่มเซลล์ห่อหุ้มอยู่เรียกว่า ฟอลลิคูลาร์เซลล์ (Follicular cell) ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) เมื่อโตขึ้นโอโอไซต์ระยะแรกจะลดลงเหลือประมาณ 500เซลล์ รังไข่มีหน้าที่ สร้างไข่และสร้างฮอร์โมนเพศหญิง
กระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย

กระบวนการสร้างไข่ (Oogenesis) เกิดขึ้นภายในรังไข่มีเซลล์เริ่มต้นที่จะเจริญไปเป็นเซลล์สืบพันธุ์ คือ ไพรมอร์เดียลเจิร์มเซลล์ (Primordial germ cell (2n)) มีการแบ่งตัวแบบไมโทซิสได้เซลล์ใหม่มากมายเซลล์ใหม่ที่ได้เหล่านี้ เรียกว่า โอโอโกเนียม (Oogonium (2n)) จากนั้นโอโอโกเนียมมีการเจริญเติบโตเป็นโอโอไซต์ระยะแรก (Primary oocyte(2n)) ต่อมาโอโอไซต์ระยะแรกแบ่ง เซลล์แบบไมโอซิส ขั้นที่ 1 เกิดเป็นเซลล์ใหม่ 2 เซลลี่มีขนาดต่างกันเนื่องจากปริมาณไซโทพลาซึมไม่เท่ากันแต่จำนวนโครโมโซมเท่ากันเซลล์ที่มีขนาดใหญ่ เรียกว่า โอโอไซต์ระยะที่สอง (Secondary oocyte(n)) ส่วนเซลล์ที่มีขนาดเล็ก เรียกว่า โพลาร์บอดีระยะแรก (First polar body(n)) ต่อมามีการแบ่งเซลล์แบบไมโอซิสขั้นที่ 2 โอโอไซต์ระยะที่สองจะแบ่งได้เซลล์ใหม่ 2 เซลล์ที่มีขนาดไม่เท่ากัน เซลล์ที่มีขนาดใหญ่ เรียกว่า ไข่ (Ovum(n)) ส่วนเซลล์ที่มีขนาดเล็ก เรียกว่า โพลาร์บอดีระยะที่สองในขณะเดียวกันโพลาร์บอดีระยะแรกก็จะมีการแบ่ง ไปพร้อมกันด้วยได้เซลล์ใหม่ที่มีขนาดเท่ากัน 2 เซลล์เรียกว่า โพลาร์บอดี ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดการแบ่งตัว แบบไมโอซิสของโอโอไซต์ระยะแรกจะได้ 4 เซลล์ที่เป็นแฮพลอยด์ (n)โดยมี 1 เซลล์ทำหน้าที่เป็นเซลล์ไข่ส่วนที่เหลืออีก 3 เซลล์สลายตัวไป
รอบประจำเดือนของเพศหญิง (Menstruation cycle)
การมีประจำเดือน หมายถึง การที่หลอดเลือดฝอยภายในผนังมดลูกชั้นในเกิดการแตกออกเนื่องจาก อิทธิพลของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองและรังไข่ ดังนั้นเมื่อมีประจำเดือนจึงมีการขับเยื่อ เมือก เลือด และของเสียจากเซลล์ที่เยื่อบุชั้นในของมดลูกออกสู่ภายนอก โดยรอบประจำเดือนในแต่ละเดือนจะใช้เวลาประมาณ รอบละ 25 – 35 วัน

1. ระยะก่อนตกไข่ (Follicular phase) เป็นระยะที่นับจากเริ่มมีประจำเดือนไปจนถึงมีการตกไข่ กิน เวลานาน 13-1 5 วัน
2. ระยะตกไข่ (Ovulation phase) เป็นระยะสั้นๆ ที่ไข่หลุดจากรังไข่ประมาณระหว่างวันที่ 13-15(บางคนอาจจะเร็วหรือช้ากว่าปกติ 2 วัน คือตกไข่ระหว่างวันที่ 11-17 ถ้าเริ่มต้นรอบเดือนวันที่ 1 ของเดือน)
3. ระยะหลังตกไข่ (Luteal phase) นับจากตกไข่ถึงเริ่มมีประจำเดือนกินเวลาประมาณ 13-15 วัน
4. ระยะมีประจำเดือน (Menstruation flow phase) ประมาณ 3-4 วัน
การปฏิสนธิและการตั้งครรภ์
การปฏิสนธิ (Fertilization) หมายถึง กระบวนการรวมตัวของนิวเคลียสของเซลล์ สืบพันธุ์เพศผู้กับนิวเคลียสของเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย การปฏิสนธิแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกเรียกว่า พลาสโมแกมี (Plasmogamy) เป็นระยะที่ไข่ถูกกระตุ้นโดยที่ผิวไข่บริเวณที่ ส่วนหัวของตัวอสุจิจะเข้าแตะจะพองนูนขึ้นและห่อหุ้มส่วนหัวของอสุจิเอาไว้ส่วนหางของอสุจิก็จะสลัดทิ้ง ระยะที่สองเป็นระยะที่ นิวเคลียสของอสุจิรวมกับนิวเคลียสของไข่ เรียกว่า คาริโอแกมี (Caryogamy) ผลที่ได้จากการปฏิสนธิ คือ ไซโกต (Zygote) ซึ่งจะพัฒนา ไปเป็นเอ็มบริโอ (Embryo) ต่อไป ในขณะเดียวกันคอร์ปัสลูเทียม (Corpusluteum) จะสร้างฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน (Progesterone) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผนังมดลูกชั้นให้หนาขึ้นและมีเส้นเลือดฝอยมากขึ้นเพื่อรอรับการฝังตัวของตัวอ่อนต่อไป






|